ปลัดสธ. รองรับนโยบาย ‘ชลน่าน’ ยกระดับ ‘30บาททุกที่’ สู่การปฏิบัติ
พ.โอภาส 'ปลัด สธ.' เตรียมแปลงนโยบาย 'ชลน่าน' ยกระดับ '30บาททุกที่' และ 'เทเลเมดิซีน' เพิ่มการเข้าถึงของคนไทย พร้อมทำภาระงานบุคลากรให้สมดุล เร่งแปลงไปสู่ภาคปฏิบัติ โดยให้เห็นผลแบบ Quick Win
ที่ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า มลฑาทิพย์ ฮอลล์ จ.อุดรธานี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2566 “ยกระดับสาธารณสุขไทยเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2566 ว่า การจัดงานประชุมวิชาการฯ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีความรู้ด้านวิชาการมาถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ส่วนมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 นั้น เป็นเพราะช่วงเวลา 3 ปีของโรคโควิด 19 ทำให้ประเทศไทยได้เรียนรู้ว่า
1.ระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็ง แต่ยังมีจุดที่สามารถพัฒนาได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะระบบการจัดการสาธารณสุขในชุมชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเดิมอยู่ตามชายขอบ ชายแดน แต่โควิดทำให้ทราบว่า ปัญหาจริงๆ อยู่ใจกลางเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ จึงต้องกลับมาทบทวนและจัดการ
2. การใช้ “เทเลเมดิซีน” ช่วยเพิ่มความครอบคลุมทั่วถึงของบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้ผล อีกทั้งคนไทยเข้าถึงสมาร์ทโฟนเกือบทุกคน จึงเป็นอีกนโยบายรัฐบาลที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ และให้ความรู้ประชาชนเพื่อรับมือภัยสุขภาพ ทั้งยามปกติและฉุกเฉิน
ส่วนการยกระดับ 30บาทรักษาทุกที่ จะดำเนินการให้สอดรับความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค รักษาพยาบาลและฟื้นฟู ซึ่งตามการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ การดูแลเรื่องภาระงานของบุคลากรให้สมดุลและขับเคลื่อนไปข้างหน้า
นอกจากนี้ ต้องก้าวข้ามการทำงานที่อยู่เฉพาะมิติการแพทย์และสาธารณสุข เพราะยังมีมิติอื่นๆ ที่ต้องทำควบคู่ด้วย โดยใช้หลักการจัดการความรู้ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งทั้งหมดจะมีการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยให้เห็นผลเร็วที่สุดตามข้อสั่งการ Quick Win ของนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)