ข่าว

'โรคอัลไซเมอร์' ปัจจุบันรักษาอย่างไร พบ เป็นสาเหตุหนึ่งของ ภาวะสมองเสื่อม

'โรคอัลไซเมอร์' ปัจจุบันรักษาอย่างไร พบ เป็นสาเหตุหนึ่งของ ภาวะสมองเสื่อม

21 ก.ย. 2566

21 ก.ย. วันอัลไซเมอร์โลก 'โรคอัลไซเมอร์' เป็นสาเหตุหนึ่งของ ภาวะสมองเสื่อม และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ เปิดข้อมูล พัฒนาการในการวินิจฉัยและการรักษาในปัจจุบัน

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า 'โรคอัลไซเมอร์' เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของ ภาวะสมองเสื่อม ทั่วโลก และเชื่อว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 6-7 แสนคนในประเทศไทยที่มีภาวะสมองเสื่อม เดิมอาศัยวิธีประเมินอาการของผู้ป่วยซึ่งยืนยันการวินิจฉัยได้แน่ชัดจากการตรวจชิ้นเนื้อสมองหลังเสียชีวิตเท่านั้น และยาที่ใช้รักษายังเป็นเพียงการประคับประคองอาการยังไม่มีแนวทางรักษาให้หายขาด

 

อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า 'โรคอัลไซเมอร์' เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมองที่เรียกว่าโปรตีนอะไมลอยด์เบต้าและโปรตีนเทาว์ ซึ่งนำไปสู่การค้นพบวิทยาการใหม่ๆ การวินิจฉัยปัจจุบันมีการส่งตรวจพิเศษ ได้แก่ 

 

1. การตรวจภาพถ่ายรังสีนิวเคลียร์ด้วยเครื่องเพทสแกนซึ่งจะตรวจจับโปรตีนและปริมาณการกระจายตัวในการสะสมของโปรตีนบนส่วนต่างๆ ของสมอง เพื่อแปลผลผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิด 'โรคอัลไซเมอร์' แยกโรคสมองเสื่อมอื่นๆ มีโอกาสกลายเป็นสมองเสื่อมเต็มขั้นมากแค่ไหน 

 

2. การตรวจระดับโปรตีนโดยตรงจากน้ำไขสันหลังและในเลือด และได้มีการพัฒนาชุดตรวจและเครื่องมือทำให้ความแม่นยำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 90 และล่าสุดในช่วงสองปีที่ผ่านมาในอเมริกาและยุโรปได้มีการรับรองชุดตรวจในเลือดเพื่อใช้ในการวินิจฉัย สามารถใช้เพียงการเจาะเลือด 3-5 ซีซี ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ และยังพัฒนาเครื่องมือตรวจให้ใช้สะดวกมากขึ้น ในรูปแบบของแผ่นตรวจสำเร็จรูป โดยหยดเลือดลงไปในแผ่นตรวจก็อาจจะตรวจจับโปรตีนเหล่านี้ได้ (แบบเดียวกับการใช้ชุดตรวจโควิด) โดยอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทดลอง

 

 

โรคอัลไซเมอร์

 

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมรักษา 'โรคอัลไซเมอร์' ด้วยยาและใช้ยาตามอาการเพื่อเพิ่มสารสื่อประสาทใน สมอง แต่ไม่สามารถชะลอการเสื่อมถอยและการฝ่อของสมองได้ ทำให้ล่าสุด องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้รับรองให้สามารถใช้ยา lecanumab  

 

 

สำหรับการรักษาผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ระยะต้นได้ เดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา และมีการผลิตยาใหม่ๆอีกมากมาย ที่อาจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่มีราคาแพงมาก และยังต้องมีการประเมินผลดีของยาระยะยาว ผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวัง อาจติดตามข้อมูลหลังการใช้จริงในต่างประเทศอีกระยะหนึ่ง จึงสามารถนำมาใช้ในวงกว้างได้ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย

 

 

สำหรับผู้ที่สงสัยว่ามีญาติหรือผู้ใกล้ชิดมีความเสี่ยงเป็น 'โรคอัลไซเมอร์' สามารถไปรับการตรวจเบื้องต้นที่คลินิกผู้สูงอายุสถานพยาบาลใกล้บ้าน กรณีที่ตัวโรคมีความซับซ้อนจะมีการส่งตัวผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลในระดับที่สูงกว่าตามความเหมาะสม สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ สามารถให้บริการส่งตรวจระดับโปรตีนของ 'โรคอัลไซเมอร์' ในน้ำไขสันหลังได้ หากผู้ป่วยรายใดมีข้อบ่งชี้ที่ต้องเข้ารับการตรวจ สามารถเข้ารับการประเมินเบื้องต้นได้ที่สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข