NARIT ชวนชม 'ท้องฟ้า' เดือนตุลาคม พบ 2 ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่น่าสนใจ
NARIT ชวนชม 'ท้องฟ้า' ช่วงเดือนตุลาคม พบ 2 ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่น่าสนใจ ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ และ จันทรุปราคาบางส่วน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนดู 'ท้องฟ้า' ยามค่ำคืนในช่วงเดือนตุลาคม 2566 โดยได้อัปเดตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจในช่วงเดือน ต.ค. 2566 ทางเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยมี 2 ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจคือ ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ และ จันทรุปราคาบางส่วน
'ฝนดาวตกโอไรออนิดส์' (อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง) สามารถสังเกตได้เวลาประมาณ 22.30 น. วันที่ 21 ต.คง 2566 เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า วันที่ 22 ต.ค. 2566 ทางทิศตะวันออก ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวนายพราน เป็นคืนที่ไร้แสงจันทร์รบกวน แนะนำให้ชมในที่มืดและอยู่ห่างจากเมือง
ฝนดาวตก เกิดจากโลกเคลื่อนตัดผ่านทางโคจรของดาวเคราะห์น้อย หรือ ดาวหาง ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ ขณะที่โลกเคลื่อนผ่านสายธารของเศษฝุ่น แรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเศษฝุ่น และหินเหล่านั้นเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลก และเกิดการลุกไหม้ กลายเป็นดาวตกหลากสีสันตามสีของอะตอมธาตุของดาวตกนั้นๆ
อีกปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ไม่ควรพลาด คือ จันทรุปราคาบางส่วน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 29 ต.ค. 2566 เวลาประมาณ 01.01 น. - 05.26 น.
ดาวเคราะห์ ที่น่าติดตาม
ช่วงหัวค่ำ (ทิศตะวันออก)
- ดาวเสาร์ เวลา 18.00 น. ถึงรุ่งเช้า
- ดาวพฤหัสบดี เวลา 20.15 น. ถึงรุ่งเช้า
ช่วงรุ่งเช้า (ทิศตะวันออก)
- ดาวศุกร์ เวลา 03.10 น. จนถึงรุ่งเช้า
*** 23 ต.ค. 2566 เหมาะแก่การสังเกตการณ์ เพราะดาวศุกร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมากที่สุด ***
ช่วงรุ่งเช้า เนบิวลานายพราน (M42)
- หากท้องฟ้ามืดสนิท สังเกตได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะเป็นฝ้าจางๆ หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นแถบฝ้าฟุ้งออกมาอย่างชัดเจน
เฟส ดวงจันทร์
- 6 ต.ค. 2566 ดวงจันทร์กึ่งข้างแรม
- 15 ต.ค. 2566 จันทร์ดับ
- 22 ต.ค. 2566 ดวงจันทร์กึ่งข้างขึ้น
- 29 ต.ค. 2566 ดวงจันทร์เต็มดวง