เช็กด่วน 10 สาเหตุ นำไปสู่ พฤติกรรม ความรุนแรง ใน 'เด็ก'
จิตแพทย์ เผย 10 สาเหตุ แนวโน้มนำไปสู่ พฤติกรรม 'ความรุนแรง' ใน 'เด็ก' พร้อมวิธีป้องกัน ก่อนเกิด โศกนาฏกรรม ซ้ำซาก
คงจะได้เห็นข่าวกันบ่อยๆ เกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมที่รุนแรงของเด็ก จนส่งผลกระทบต่อผู้อื่น หลายกรณีรุนแรงจนถึงขั้นอีกฝ่ายเสียชีวิต รวมทั้งกับเหตุการณ์ล่าสุด เยาวชน อายุ 14 ปี ก่อเหตุ กราดยิง กลางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้รับบาดเจ็บ 5 คน หลายฝ่ายต่างเร่งหามาตรการป้องกัน และมีความกังวล เกี่ยวกับพฤติกรรมรุนแรงในเด็ก ว่ามาจากสาเหตุอะไร อีกทั้ง มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และมีปัจจัยอะไร ที่จะบ่งชี้ถึงแนวโน้มการก่อความรุนแรง
พญ.อริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์ โรงพยาบาล แบงค็อก เมนทัล เฮลท์ Bangkok Mental Health Hospital (BMHH) ให้ข้อมูลว่า สาเหตุของพฤติกรรมรุนแรงในเด็กและวัยรุ่น มีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงกันหลายๆ อย่าง ไม่อาจตอบได้ทีเดียวว่า ปัจจัยใดมากกว่าปัจจัยใด โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความรุนแรง ได้แก่
- เคยมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงมาก่อน
- เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- เคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวหรือสังคมใกล้ตัว
- เป็นเหยื่อการถูกล้อเลียน
- พันธุกรรม ถ้ามีคนในครอบครัวควบคุมอารมณ์ได้ยาก เคยมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
- สื่อที่มีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสื่อในทีวี ภาพยนตร์ หรือเกมส์
- การใช้สารเสพติดบางอย่าง ยาบางชนิด แอลกอฮอล์
- มีปืนไว้ในบ้านหรือใกล้ตัว
- ความเครียดในครอบครัว เช่น เศรษฐสถานะ ครอบครัวยากลำบาก ผู้ปกครองแยกทางกัน หรือเป็นผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว ตกงาน และไม่มีญาติพี่น้องที่สามารถให้การช่วยเหลือได้
- สมองกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ
พญ.อริยาภรณ์ กล่าวว่า ในกรณีนี้คนรอบข้าง หรือในคนครอบครัว ควรสังเกตบุตรหลานอย่างใกล้ชิดว่า มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมรุนแรงหรือไม่ โดยประเมินได้จากการที่เด็กแสดงอารมณ์โกรธอย่างรุนแรงมากกว่าปกติ, มีการระเบิดอารมณ์ที่บ่อยขึ้น, หงุดหงิดงุ่นง่าน พลุ่งพล่าน อยู่ไม่สุข, หุนหันพลันแล่น ควบคุมความโกรธ/อารมณ์ไม่ได้, ถูกกระตุ้นอารมณ์ได้ง่าย, พฤติกรรมแปลกไปกว่าเดิม เช่น พูดน้อยลงหรือมากขึ้น นิ่งลง ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออก ก็อยู่ที่ความสามารถทางสติปัญญาในการวางแผนด้วย
วิธีรับมือเด็กมีพฤติกรรมรุนแรง
เมื่อใดที่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลคนอื่น เช่น ครู รู้สึกว่าเด็กมีพฤติกรรมแปลกไป ควรจะพาไปประเมินอย่างละเอียดโดยจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ซึ่งการเข้ารับการรักษาเร็ว สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดความรุนแรงได้มาก โดยเป้าหมายของการรักษา คือช่วยให้เด็กเรียนรู้การควบคุมความโกรธ การแสดงออกความไม่พอใจได้อย่างเหมาะสม ให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และยอมรับผลของการกระทำนั้น เช่น กำหนดข้อตกลงบทลงโทษของการทำผิด และคุยต่อว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อไปอย่างไร หากอยู่ในสังคมทั้งที่ใกล้ตัวและสังคมที่ใหญ่ขึ้นไป นอกจากนี้ เรื่องปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาที่โรงเรียน ปัญหาของสังคมรอบข้างก็ควรได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงในเด็ก
- การลดความรุนแรงในสถานการณ์ต่างๆ ที่เด็กต้องได้เจอ เช่น ความรุนแรงในบ้าน ในสังคม ในสื่อ เพราะความรุนแรงนำมาสู่ความรุนแรง
- การป้องกันการทารุณกรรมเด็ก โดยผู้ปกครองควรสอนเด็กว่า อะไรคือเข้าข่ายทำร้ายเด็ก เช่น การมาจับตัวในส่วนที่ไม่ควรจับ หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นให้เด็กมาแจ้งพ่อแม่ หรือให้วิ่งหนีไปอยู่กับกลุ่มคนอื่นที่ปลอดภัยกว่า และให้ความรู้ผู้ปกครองในการทำโทษเด็กอย่างเหมาะสม รูปแบบไหนเป็นเพียงการสั่งสอน และรูปแบบใดรุนแรงเกินไป จนเข้าข่ายทารุณกรรม
- ให้ความรู้ทางเพศแก่เด็กวัยรุ่น
- หากสังเกตพบแนวโน้มที่เด็กและวัยรุ่นจะก่อความรุนแรง ให้พูดคุยเพื่อเข้าสู่กระบวนการการช่วยเหลือต่อไป
- สังเกตและชวนพูดคุยมุมมองของเด็กต่อความรุนแรงในสื่อที่เด็กรับ ไม่ว่าจะเป็น สื่อออนไลน์ โทรทัศน์ เกมส์ หรือภาพยนตร์
- ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลกับเด็ก ถ้าสามารถพูดคุยกันได้และรับรู้แนวโน้มความสนใจของเด็ก มีทัศนคติที่ดีในเรื่องการดูแลเด็ก การพบแพทย์ การทานยา
- ในช่วงวัยเด็ก ถ้าผู้ปกครองให้การชื่นชม/ยอมรับ ในสิ่งที่เด็กทำได้ดีและเหมาะสม เช่น แนวโน้มเด็กชอบใช้กำลัง แต่ถ้าเด็กไปใช้กำลังกับสิ่งที่สังคมยอมรับได้ เช่น การเล่นกีฬา ก็จะทำให้แนวโน้มการเกิดความรุนแรงลดลง
ทั้งนี้ พฤติกรรมความรุนแรงในเด็กทุกๆ คน มีส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดได้ เพียงแค่ใส่ใจ หมั่นสังเกตและพูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ แต่หากพบว่ามีความเสี่ยงควรพาไปประเมินกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อลดความสูญเสีย หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ขอบคุณ : โรงพยาบาล Bangkok Mental Health Hospital BMHH