พม. ร่วมมือ กทม. เตรียมตั้งคณะทำงาน 7 ชุด แก้ปัญหาคนไร้บ้าน ความเลื่อมล้ำ
พม. จับมือ กทม. เตรียมตั้ง 7 คณะทำงานช่วยเหลือทุกกลุ่มเปราะบาง พร้อมเร่งแก้ปัญหาคนไร้บ้านราชดำเนิน ลดความเลื่อมล้ำ
ที่บริเวณโถงชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว ภายหลังการประชุมบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ว่า การประชุมหารือวันนี้ได้พูดคุยถึงความร่วมมือในการทำงานระหว่างกระทรวง พม. และ กทม. นั้น
เราจะร่วมมือกันได้อย่างไรบ้าง ซึ่งมีหลายปัญหาใน กทม. และต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและทีมงานที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกัน แต่จากนี้ไป การทำงานนั้นจะมีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และจะมีความรวดเร็วและต่อเนื่องมากขึ้น เพราะว่าผลจากการที่เราได้พูดคุยกันในที่ประชุมวันนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปว่าเราจะตั้งคณะทำงานกันขึ้นมา ประกอบด้วย 1. คณะทำงานด้านที่อยู่อาศัย กระทรวง พม. มีการเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 2. คณะทำงานด้านคนพิการ กระทรวง พม. จะอยู่ภายใต้การทำงานของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 3. คณะทำงานด้านขอทานและคนไร้บ้าน กระทรวง พม.
จะอยู่ภายใต้การทำงานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 4. คณะทำงานด้านเด็กและเยาวชน กระทรวง พม. จะอยู่ภายใต้การทำงานของกรมกิจการเด็กและเยาวชน 5. คณะทำงานด้านผู้สูงอายุ กระทรวง พม. จะอยู่ภายใต้การทำงานของกรมกิจการผู้สูงอายุ 6. คณะทำงานด้านสตรีและครอบครัว กระทรวง พม. จะอยู่ภายใต้การดูแลของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ 7. คณะทำงานด้านการบูรณาการฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบาง
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ การทำงานในแต่ละด้านจะมีความใกล้ชิดเพราะว่าเป็นคณะทำงานไม่ใช่คณะกรรมการ และคาดว่าภายในสัปดาห์หน้า คณะทำงานในแต่ละด้านจะจัดตั้งแล้วเสร็จ โดยมีตนและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคอยกำกับดูแลว่าเมื่อตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้วจะมีการทำรายงานความก้าวหน้า ในส่วนของกระทรวง พม. ตนเชื่อว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่ กทม. มีอยู่ จะต้องสามารถเชื่อมกับ Database (ฐานข้อมูล) ที่กระทรวง พม. มีได้ เมื่อฐานข้อมูลของกระทรวง พม. และ กทม. เชื่อมเข้าด้วยกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ คนพิการ ข้อมูลต่าง ๆ จะแปลงเป็นข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. และ ทาง กทม. จะสามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะว่าวันนี้มิติของกระทรวง พม. และ กทม. มีความใกล้เคียงกันและสามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้อย่างดีมาก อาทิ การดูแลเรื่องขอทานซึ่งในวันนี้ มีคนร้องเรียนเข้ามามากพอสมควร แต่ว่าการที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นั้น อาจจะไม่ใช่แค่ กระทรวง พม. และ กทม. อาจจะต้องมีคณะทำงานหรือหน่วยงานของรัฐ ภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาร่วมมือกันด้วย หรือแม้แต่เรื่องของเด็กและเยาวชน สถาบันครอบครัว ซึ่งในวันนี้ ทั้ง กระทรวง พม. และ กทม. เราถือว่าเป็นภารกิจอันดับหนึ่งที่เราจะแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่รุนแรงในสังคม การสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดภายในครอบครัวนั้น จะเป็นบ่อเกิดแห่งการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุและปัญหาที่เราไม่อยากให้เกิด ทั้งนี้ คาดว่าภายในสิ้นปี 2566 จะมีกิจกรรมดี ๆ ระหว่างกระทรวง พม. และ กทม. เกิดขึ้น
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เรามุ่งเน้น คือ การทำงานด้านคนพิการ ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่า จากนี้ไปการแถลงข่าวหรือการให้ข่าวของกระทรวง พม. จะมีการให้บริการทางด้านภาษามือให้กับพี่น้องคนพิการทางการได้ยิน หากในอนาคตมีสิ่งใดที่เราสามารถมอบสิ่งดี ๆ ให้กับประชาชนคนไทยได้ กระทรวง พม. จะดำเนินการต่อเนื่อง
นายชัชชาติ กล่าวว่า กระทรวง พม. และ กทม. มีภารกิจในการทำงานที่สอดคล้องกันอย่างมาก เพราะว่าหัวใจของเราคือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเมือง โดยภารกิจแรกที่จะทำคือจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าหนึ่งปีและสองปีจากนี้จะเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างไร เมื่อเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว คนทำงานจะได้ทุ่มเททรัพยากรและความร่วมมือต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเห็นเป้าหมายของแต่ละคณะทำงานที่ชัดเจน และเร่งทำระบบฐานข้อมูลมารวมกัน สำหรับเรื่องของคนไร้บ้าน ซึ่งใน กทม. ได้อยู่หนาแน่นในบริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งต้องร่วมมือกันระหว่าง กระทรวง พม. และ กทม. ในการดูแลคนไร้บ้านในบริเวณนี้ โดยจัดหาที่อยู่ที่เหมาะสม ซึ่งเรากำลังดูสถานที่ที่เหมาะสมบริเวณแยกแม้นศรี และจะมีกระบวนการแก้ปัญหาที่ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุแต่แก้ถึงต้นเหตุ อาทิ การคืนสิทธิ การหาอาชีพ เพื่อให้เขาอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคม มีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน และภารกิจเร่งด่วนต่อมา คือ การดูแลชุมชนบุกรุก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย โดยจะมุ่งเน้นที่คลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรก่อน ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องเร่งรัดให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ มีโครงการจำนวนมากที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย แต่ใช้เทคโนโลยี การเปลี่ยนวิธีคิด และการหาแนวร่วมจากภาคเอกชน ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนี้ จะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประโยชน์กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้อย่างรวดเร็ว