ข่าว

กต.เคาะ 'แรงงานไทย' ควักกระเป๋าซื้อตั๋วบินจาก 'อิสราเอล' เบิกคืนได้ทั้งหมด

กต.เคาะ 'แรงงานไทย' ควักกระเป๋าซื้อตั๋วบินจาก 'อิสราเอล' เบิกคืนได้ทั้งหมด

13 ต.ค. 2566

"กต." เห็นชอบ "แรงงานไทย" ที่จ่ายเงินซื้อ "ตั๋วเครื่องบิน" กลับเอง ให้นำหลักฐานติดต่อแรงงานจังหวัด "เบิกเงินคืน" ได้ทั้งหมด พร้อมประสานสายการบินเพิ่มเที่ยวบินถี่ขึ้น ตั้งเป้าอพยพคนไทย 400 คนต่อเที่ยว

13 ต.ค. 2566  นางกาญจนา  ภัทรโชติ  อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์การสู้รบในอิสราเอลหลังการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินเพื่อติดตามสถานการณ์ในอิสราเอลว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เชิญทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยหารือ และขอให้ฝ่ายอิสราเอลช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดส่งคนไทยกลับประเทศโดยเร็วที่สุด

 

โดยทูตอิสราเอลแจ้งว่าอิสราเอลได้อพยพคนต่างชาติออกจากบริเวณพื้นที่ใกล้ฉนวนกาซากว่าร้อยละ 99 ไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว  ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการนำคนไทยกลับเป็นเป้าหมายสูงสุดของไทยจึงขอให้ช่วยดูแลความปลอดภัยและการลำเลียงมายังสนามบิน ซึ่งทูตอิสราเอลได้รับปาก 

 

างกาญจนา  ภัทรโชติ  อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ยังได้คุยกับสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์เพิ่มเติม เพื่อจัด Charter  Flight  ในการอพยพคนไทยจำนวน 250 คน ออกเดินทางในวันที่ 16 ต.ค.2566  โดยรอยืนยันเวลาเดินทางถึงไทย

 

 

นายกฯหารือทูตอิสราเอล ขอให้เจรจาปล่อยตัวประกันแรงงานไทย

 

 

ขณะเดียวกันยังมีเที่ยวบินของกองทัพอากาศ อพยพคนไทย 135 คนจะเดินทางถึงประเทศไทย เวลา 04.00 น. โดยขณะนี้มีผู้ที่ประสงค์จะกลับประเทศไทย 6,778 ราย  ผู้ประสงค์อยู่ต่อ 85 ราย

 

นอกจากนี้ยังได้สำรองเที่ยวบินพาณิชย์สำหรับอพยพคนไทย แต่ขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียด โดยมีการตั้งเป้าอพยพให้ได้วันละ 400 คนจากทุกช่องทาง หากเป็นไปได้จะเดินทางกลับประเทศไทยทุกวัน

 

นอกจากนี้ยังมีการเตรียมแผนสำรองโดยการอพยพคนไทยออกไปที่ประเทศจอร์แดนและประเทศใกล้เคียง และให้สายการบินไทยไปรับกลับประเทศซึ่งจะสามารถรองรับได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงจอร์แดน ได้มีการไปพูดคุยรวมถึงขอให้มีการผ่อนปรนเอกสารหลักฐานบางคนที่ยังมีไม่ครบถ้วน รวมถึงกรณีการเดินทางทางบกโดยรถยนต์  ขณะที่แผนการให้ความช่วยเหลือก็จะปรับไปตามสถานการณ์และดูพัฒนาการของอิสราเอล ส่วนกรอบเวลาการอพยพคนไทย นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย 

 

 

ในส่วนประเด็นที่มีแรงงานไทย จำนวน 26 คน ที่จ่ายเงินซื้อตั๋วเครื่องบินกลับมาเองนั้น ที่ประชุมสถานการณ์ฉุกเฉินได้มีการพูดคุย โดยเห็นชอบในหลักการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่เดินทางกลับไทยตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566   ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประกาศสภาวะสงคราม โดยแรงงานไทยที่เดินทางกลับจะต้องยื่นหลักฐานประกอบด้วยบอร์ดดิ้งพาส ใบเสร็จหรือตั๋วเครื่องบิน ประกอบกับเอกสารหลักฐานแสดงตนหนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน ยื่นผ่านแรงงานจังหวัดและกระทรวงแรงงาน

 

สำหรับหลักการที่รัฐบาลจะจ่ายค่าชดเชยให้นั้น ขอให้แรงงานเก็บเอกสารหลักฐานไว้ก่อนรอฟังรายละเอียดที่ชัดเจนจากทางการอีกครั้ง ซึ่งแรงงานที่อยู่ต่างจังหวัดทางกระทรวงแรงงานจัดเก็บหลักฐานและยื่นเอกสารไว้ให้ส่วนในอนาคตอาจจะมีการตั้งจุดบริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ  ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะต้องรวบรวมหลักฐานเพื่อตั้งของบประมาณเป็นงบกลาง 

 

ส่วนผู้ที่ถูกจับตัวเป็นประกันนั้น รัฐบาลพยายามพูดคุยกับทุกฝ่ายซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำกับทูตอิสราเอล ว่าแรงงานไทยเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ขัดแย้ง ขอให้ดำเนินการปล่อยตัวแรงงานไทยโดยเร็วที่สุด และในพื้นที่ก็มีข่าวว่ากลุ่มฮามาสจะสังหารตัวประกันหากอิสราเอลโจมตี  ขณะนี้ยังไม่ปรากฏข่าวดังกล่าว

 

ขณะที่จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มีการพยายามปล่อยออกว่าคนไทยเสียชีวิตมากที่สุดนั้นขณะนี้ไม่ใช่ แต่เป็นประเทศอื่น แต่หากเป็นชนชาติใดก็ขอแสดงความเสียใจที่ประเทศนั้นๆจะต้องสูญเสียญาติพี่น้องไป ทั้งนี้สถานทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟ และทูตฝ่ายรายงาน ได้พยายามหาเบอร์โทรศัพท์ของแรงงานไทยที่ถูกจับตัวประกันเพื่อให้ทางการอิสราเอล ใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามหาพิกัดว่าถูกจับไปอยู่ในจุดไหน   ขณะที่คนที่หลบซ่อนตัวอยู่ตามจุดต่างๆ น่าจะได้รับการช่วยเหลือจากทางการอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง