ข่าว

'อัลลิเกเตอร์' สายพันธุ์ใหม่ของโลก มีลักษณะอย่างไร ทำไมถึงสูญพันธุ์

'อัลลิเกเตอร์' สายพันธุ์ใหม่ของโลก มีลักษณะอย่างไร ทำไมถึงสูญพันธุ์

19 ต.ค. 2566

'อัลลิเกเตอร์' หรือ 'อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล' สายพันธุ์ใหม่ของโลก มีลักษณะอย่างไร ทำไมถึงสูญพันธุ์ หลังถูกค้นพบในไทย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย กรมทรัพยากรธรณี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าว การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ 'อัลลิเกเตอร์' สายพันธุ์ใหม่ของโลก 'อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส' (Alligator munensis) หรือ 'อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล' คาดว่า มีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือ ประมาณ 230,000 ปีก่อน ซึ่ง 'อัลลิเกเตอร์' ที่ค้นพบนั้น มีลักษณะอย่างไรบ้าง

 

การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ 'อัลลิเกเตอร์' สายพันธุ์ใหม่ของโลก 'อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส' (Alligator munensis) หรือ 'อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล' เกิดจากการที่กรมทรัพยากรธรณี ได้รับแจ้งจากผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2548 และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี นำโดย Dr.GustavoDarlim ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ที่เก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอโนนสูง พบว่า เป็นกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น  

 

 

นอกจากนี้ได้ลงพื้นที่บ้านเจ้าของที่ดินใน บ้านสี่เหลี่ยม ต.ใหม่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ซึ่งได้ขุดบ่อเลี้ยงปลา โดยมากเป็นเศษกระดูกแตกหักจนไม่สามารถศึกษาได้ อีกทั้งได้ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์กะโหลกสภาพเกือบสมบูรณ์ของ 'อัลลิเกเตอร์' และพบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก คาดว่า มีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุน้อยกว่านั้น การค้นพบดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 'อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส' (Alligator munensis) หรือ 'อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล' โดยตั้งชื่อตามแหล่งค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูล

 

 

อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล

อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล

 

'อัลลิเกเตอร์' มีลักษณะคล้ายกับ จระเข้ แต่แตกต่างกันตรงที่ 'อัลลิเกเตอร์' มีจะงอยปากเป็นรูปตัวยู ในขณะที่จระเข้มีจะงอยปากเรียวแหลมเป็นรูปตัววี ลักษณะเด่นเมื่อเทียบกับอัลลิเกเตอร์ชนิดอื่น คือ มีจะงอยปากกว้างและสั้นกว่า มีกะโหลกสูงกว่า มีตำแหน่งรูจมูกอยู่ห่างจากปลายจะงอยปาก มีการลดจำนวนเบ้าฟันลงและมีเบ้าฟันขนาดใหญ่ขึ้น บ่งบอกว่ามีฟันขนาดใหญ่ใช้สำหรับกินอาหารที่มีเปลือกแข็ง เช่น หอยน้ำจืดชนิดต่างๆ จากขนาดกะโหลกคาดว่ามีขนาดทั้งตัวยาวประมาณ 1-2 เมตร 

 

 

นอกจากนี้ยังพบว่าลักษณะกะโหลกใกล้เคียงกับอัลลิเกเตอร์จีนในปัจจุบัน (Alligator sinensis) แสดงให้เห็นว่า 'อัลลิเกเตอร์' ทั้งสองชนิดอาจมีบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างลุ่มน้ำแยงซีและลุ่มน้ำแม่โขง-เจ้าพระยา แต่การเกิดธรณีแปรสัณฐานทำให้เกิดการยกตัวของที่ราบสูงธิเบต ส่งผลให้เกิดการแยกประชากรทั้งสองชนิดออกจากกัน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล เกิดการสูญพันธุ์ไปก่อน

 

 

อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล

อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล

 

 

ข้อมูล-ภาพ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม