'วันสหประชาชาติ' ร่วมแสดงความหวัง เจตนารมณ์ สร้างโลกที่ดีกว่า
24 ต.ค. 'วันสหประชาชาติ' เลขาธิการสหประชาชาติ ขอทุกคน ร่วมแสดงความหวัง เจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่า
'วันสหประชาชาติ' ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ต.ค. มีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งให้ผู้คนทั่วโลกทราบถึงเป้าหมาย จุดประสงค์และการบรรลุผลของ สหประชาชาติ โดยกำหนดวันที่กฎบัตรสหประชาชาติ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2488 เป็นวันกำเนิดของ องค์การสหประชาชาติ (UN) และในวันที่ 6 ธ.ค. 2514 ได้มีมติของสหประชาชาติที่ 2782 (XXVI) สนับสนุนให้วันสหประชาชาติเป็นวันหยุดประจำชาติในประเทศสมาชิกทุกๆ ประเทศ
วัตถุประสงค์
- เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
- เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชาติทั้งหลาย โดยเคารพหลักการแห่งสิทธิเท่าเทียมกัน และการกำหนดเจตจำนงของตนเอง
- เพื่อให้บรรลุถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในอันที่จะแก้ปัญหาระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมหรือมนุษยธรรม และการส่งเสริม/สนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพสำหรับทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษาหรือศาสนา
- เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับประสานการดำเนินงานของประชาชาติทั้งหลายให้กลมกลืนกัน
หลักการสำคัญของ สหประชาชาติ
- หลักความเสมอภาคในอธิปไตย : ทุกรัฐมีความเสมอภาคกันในอำนาจอธิปไตย ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจึงมีสิทธีเสียงเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่หรือเล็ก
- หลักความมั่นคงร่วมกัน : ประเทศสมาชิกต้องรวมกำลังกันเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงร่วมกัน โดยต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อผูกพันตามกฎบัตร โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงระหว่างประเทศ
- หลักเอกภาพระหว่างมหาอำนาจ : กฎบัตรให้ความรับผิดชอบพิเศษแก่มหาอำนาจ 5 ประเทศเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงระหว่างประเทศ และให้สิทธิยับยั้ง (Veto)
- หลักการไม่ใช้กำลังและการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี : เพื่อจำกัดความขัดแย้งทั้งหลายให้อยู่ในขอบเขต ไม่กระทบสันติภาพโดยส่วนรวม
- หลักความเป็นสากลขององค์กร : เปิดกว้างแก่รัฐที่รักสันติทั้งปวง และให้ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพึงปฏิบัติตามหลักการของสหประชาชาติเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาสันติภาพ
- หลักการเคารพเขตอำนาจศาลภายใน : ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรที่ให้อำนาจแก่สหประชาชาติเข้าแทรกแซงกิจการที่อยู่ในเขตอำนาจภายในของรัฐ
สหประชาชาติ ในประเทศไทย
สหประชาชาติ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและประชาชนไทยมากว่า 75 ปี เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุม และยั่งยืนอันสอดคล้องกับวาระสำคัญของประเทศและแผนพัฒนาของชาติ ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทยประกอบด้วยหน่วยงานของ สหประชาชาติ 21 หน่วยงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหุ้นส่วนความร่วมมืออันทรงคุณค่าของรัฐบาลไทย กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายบริหารระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น ภาคเอกชน นักลงทุนและผู้บริจาค สื่อมวลชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม รวมถึงเยาวชนและประชากรกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ เรายังทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก (เอสแคป) อีกด้วย
คำกล่าวเนื่องใน 'วันสหประชาชาติ'
นายอันโตนิโอ กุเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเนื่องใน 'วันสหประชาชาติ' ว่า "สหประชาชาติคือภาพสะท้อนความเป็นจริงของโลกที่เป็นอยู่ และยังเป็นปณิธานของโลกที่เป็นไปได้ ภารกิจของเราคือการสร้างโลกใบนั้น โลกแห่งสันติภาพ การพัฒนาที่ยั่งยืน และสิทธิมนุษยชน ผมเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ กฎบัตรสหประชาชาติที่มีผลบังคับใช้ในวันนี้ เมื่อ 78 ปีก่อน กำหนดแนวทางไว้แล้วอย่างชัดเจน หยั่งรากและตั้งมั่นอยู่เพื่อเชื่อมประสานความแตกแยก ฟื้นฟูความสัมพันธ์ และสร้างสรรค์สันติภาพ เพื่อแผ่ขยายโอกาสและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อผดุงความยุติธรรม ความเสมอภาค และเสริมสร้างศักยภาพสตรีและเด็กผู้หญิง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและรักษาชีวิต และเพื่อให้พร้อมเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนเมื่อครั้ง สหประชาชาติ แรกก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงความหวังและภัยอันตรายที่มาพร้อมกับปัญญาประดิษฐ์
สหประชาชาติ ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่อยู่เหนือกาลเวลา แต่ก็ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะดำเนินภารกิจอย่างเท่าทันยุคสมัยแห่งศตวรรษที่ 21
'วันสหประชาชาติ' ปีนี้ถือเป็นวาระในการแสดงความหวังและเจตนารมณ์ร่วมกันอย่างแน่วแน่เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่า มาร่วมสานพลังความร่วมมือตามความมุ่งหมายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน แม้จะแตกต่าง แต่ความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกชาติเป็นไปได้บนโลกของเรา"
ข้อมูล : สหประชาชาติ ประเทศไทย / www.un.org