กทม. ปัดฝุ่น 'ทางจักรยาน' เน้นใช้ร่วมกันทั้งเดิน-ปั่น คาดเห็นผล เม.ย.ปีหน้า
"รองผู้ว่าฯ กทม. ศานนท์" เตรียม ปัดฝุ่น "ทางจักรยาน" ยึด 2 ข้อ ไม่ทำเฉพาะจักรยาน แต่เป็นทางเดิน-ปั่น และไม่ฝืนพฤติกรรมคนพื้นที่ คาดเห็นผลการทาสีตีเส้นทางเดิน-ปั่น เม.ย.-มิ.ย. ปีหน้า
2 พ.ย. 2566 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีดราม่าเส้นทางจักรยานในจังหวัดอื่น ว่า เส้นทางจักรยานในรูปแบบ "dedicated bike lane" หรือเลนรถจักรยานโดยเฉพาะนั้น กรุงเทพมหานครก็เคยทำ ซึ่งมีเสียงตอบรับทั้งในแง่บวกและลบ และสุดท้ายก็ได้ยกเลิกไป
จากการหารือกับกลุ่มจักรยานที่เข้ามาช่วยจึงได้ข้อสรุปว่า เราจะไม่ทำเป็น dedicated bike lane แบบที่ผ่านมาแล้ว แต่สิ่งที่อยากทำคือทางเดิน-ปั่นร่วมกัน ซึ่งหมายถึงการตีเส้นจะสามารถใช้ได้ทั้งการเดินและการปั่นจักรยาน
ที่ผ่านมาได้ทำการทดลองทาสีเป็นทางเดิน-ปั่นร่วมกันในหลายเส้นทาง เช่น ซอยสามเสน 11 และซอยสามเสน 13 เขตดุสิต เขตสาทร และจะมีในพื้นที่เขตวัฒนาด้วยเช่นกัน โดยจะปรับพื้นที่ซอยเล็กๆ ให้รถยังสามารถวิ่งได้เหมือนเดิม แต่จะตีเส้นใหม่เพื่อให้คนเดินและปั่นมีทางใหญ่ขึ้น ปลอดภัยขึ้น ในเขตพระนครมี 7 เส้นทางที่ทดลองอยู่ เช่น บริเวณข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานครที่ได้มีการปรับ 1 เลนเป็นทางเดิน-ปั่น รวมถึงมีการออกแบบให้ลดขนาดถนนเพื่อให้รถชะลอความเร็วลง
ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจเส้นทาง Car Free โดยอาสาสมัคร ทั้ง 50 เขต สำรวจเส้นทางที่ต้องการให้เป็นเส้นทางเดิน-ปั่นร่วมกัน โดยการสำรวจนี้ได้เส้นทางมาประมาณกว่า 600 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องพิจารณาอีกครั้ง ก่อนจะยืนยันว่าจะดำเนินการทั้งหมดหรือไม่
ในส่วนของการจะปรับปรุงเส้นทางจักรยานใหม่ คงไม่ได้ทำเลนเฉพาะจักรยานแยก เนื่องจากถนนเราพื้นที่น้อยอยู่แล้ว แต่จะทำเป็นทางเดิน-ปั่นร่วม โดยใช้การทาสีตีเส้น แต่เน้นเส้นเลือดฝอย เช่น จากบีทีเอสไปยังซอยเข้าบ้านหรือโรงเรียน
หากพื้นที่ใดสามารถแชร์ทางเท้าได้ เช่น คลองผดุงกรุงเกษม ก็จะมีสัญลักษณ์จักรยานกับเดินอยู่บนทาง หรือมีเสากั้นให้ชัดเจน คาดว่าจะเห็นผลการทาสีตีเส้นทางเดิน-ปั่นในแต่ละเขตภายในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2567 ส่วนข้อกังวลในเรื่องการจอดในเลนจักรยานเหมือนที่มีกรณีในจังหวัดอื่นๆ ก็ต้องเข้มงวด โดยจะต้องประสานกับทางตำรวจด้วย
นายศานนท์ กล่าวอีกว่า แต่ก่อนเราไปฝืนพฤติกรรมการจอดรถ คือไปทำเลนจักรยานในเส้นทางที่คนมีพฤติกรรมจอดรถซื้อของอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันที่เราทำ จะใช้การขยายทางเท้าหรือใช้เส้นทางที่คนไม่ได้มีพฤติกรรมจอดอยู่แล้วมาเป็นเส้นทางเดิน-ปั่น
โดยสรุปนั้นตามหลักการของเรา คือ
1. ไม่ทำเป็น dedicated bike lane
2. ไม่ได้ฝืนพฤติกรรมของคนที่ใช้สอย
คิดว่าจะทำให้ทางจักรยานเป็นมิตรกับทุกคนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะปรับปรุงพื้นที่จะต้องมีการทำกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยมีการพูดคุยหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็น
อีกหัวใจสำคัญ คือใช้การทดลองก่อน ยังไม่ได้ลงทุนใช้เงินในการขยายทางเท้าทันที แต่ใช้การทาสีตีเส้นและดู feedback ก่อนดำเนินการจริง เช่น ในพื้นที่เขตพระนคร ได้มีการจัดเวทีเพื่อชวนคนในชุมชนมาคุย และแจกแบบสอบถาม
สำหรับบริเวณถนนมหรรณพ ซึ่งปกติมีการจอดรถอยู่แล้ว ได้มีการทดลองทาสีตีเส้นใหม่ รถก็สามารถจอดได้เท่าเดิม แต่มีความเป็นระเบียบมากขึ้น เช่น เดิมอาจจะจอดห่างกัน แต่เมื่อมีการตีเส้นการจอดรถจะติดกันมากขึ้น ทำให้พื้นที่ที่เหลือคนสามารถเดินหรือปั่นได้มากขึ้น