ย้อนคดี 'กระทะโคเรียคิง' บทเรียน โฆษณาเกินจริง หลัง ศาลนัดตัดสิน วันนี้
ย้อนมหากาพย์ คดี 'กระทะโคเรียคิง' ปลุกกระแส ระวังสินค้าโปรโมต หลัง ศาลแพ่ง นัดฟังคำพิพากษา วันนี้ โฆษณาเกินจริงหรือไม่
มหากาพย์แห่งคดีที่ยืดเยื้อ คดี “กระทะโคเรียคิง” น่าจะเป็นอีกหนึ่งคดี นับตั้งแต่ปี 2560 ที่กลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิง ยื่นฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย ซึ่งคดีเหมือนจะเป็นไปด้วยดี เพราะความผิดของการโฆษณาเกินจริง เห็นได้อย่างชัดเจน แต่คดีกลับไม่จบ เมื่อผู้ประกอบการ ฟ้องปิดปากผู้บริโภค 1 ราย คดี “กระทะโคเรียคิง” จุดเริ่มต้นมหากาพย์เกิดจากอะไร คมชัดลึก สรุปมาให้แล้ว
30 มิ.ย. 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย 74 คน นำเรื่อง “กระทะโคเรียคิง” ฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายรวม 1,650 ล้านบาท จากบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายกระทะโคเรียคิง โดยระบุว่า ส่งมอบสินค้าคุณสมบัติไม่ตรงตามที่โฆษณา
19 ต.ค. 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตรับคดี “กระทะโคเรียคิง” เป็นคดีกลุ่ม เฉพาะรุ่นไดมอนด์ ซีรีส์ (Diamond Series) และ รุ่นโกลด์ ซีรีส์ (Gold Series) ที่ซื้อก่อน 17 พ.ค. 2560 พร้อมแนะผู้เสียหาย เก็บหลักฐานการสั่งซื้อไว้ดำเนินคดีต่อไปในขั้นตอนต่อไป
23 ก.พ. 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่มตามศาลชั้นต้น โดยจำกัดขอบเขตของกลุ่ม ให้เป็นเฉพาะผู้บริโภคที่ซื้อกระทะโคเรียคิง รุ่นไดมอนด์และรุ่นโกลด์
แต่ในระหว่างที่รอคำพิพากษาคดี มีผู้บริโภค 1 ราย ถูกผู้ประกอบการฟ้องปิดปาก ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และเบิกความเท็จ เพื่อหวังปิดปาก
แต่ชัยชนะก็กลับเป็นของผู้บริโภค ที่ต่อสู้กับการถูกผู้ประกอบการใช้วิธีฟ้องปิดปาก เมื่อศาลอาญา พิพากษา “ยกฟ้อง” จำเลย ซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิง ที่ โฆษณาเกินจริง จบการต่อสู้ที่ใช้เวลายาวนาน นับจากปี 2565
เมื่อย้อนไปดูในโฆษณาของ “กระทะโคเรียคิง” จะบอกถึงสรรพคุณว่า ใช้นวัตกรรม 8 ชั้น ประกอบด้วย หินอ่อนเงิน, หินอ่อนทอง, พร้อมด้วย เทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ โค้ตติ้ง ป้องกันแบคทีเรีย พร้อมระบุว่า เมื่อนำไปปรุงอาหาร ทำให้อาหารไม่ติดกระทะ โดยราคากระทะใบละ 15,000 บาท แต่หากซื้อผ่านรายส่งเสริมการขายจะเหลือเพียง 3,000 บาท และซื้อ 1 ใบ แถมอีก 1 ใบ
แต่เมื่อผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ “กระทะโคเรียคิง” เพราะเชื่อในสรรพคุณที่ถูกระบุในโฆษณา และเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่เมื่อนำใช้จริง กลับไม่เป็นไปตามที่กล่าวอ้าง จึงเริ่มเคลื่อนไหว เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. เข้าไปตรวจสอบ จากนั้น จึงมีกระบวนการส่งไปตรวจที่ห้องแล็บ ปรากฏว่า เนื้อกระทะโคเรียคิง ทำมาจาก “อะลูมิเนียมเสริมเหล็ก” เคลือบด้วย “พอลิเมอร์”
แต่ที่สุดพีค นั่นคือ ไม่พบหินอ่อนในชั้นเคลือบกระทะ แถมชั้นเคลือบไม่ได้มี 8 ชั้น เพราะรุ่น “โกลด์ซีรีส์” มีการเคลือบเพียง 5 ชั้น ส่วนรุ่น “ไดมอนด์ซีรีส์” เคลือบเพียง 2 ชั้นเท่านั้น และยังพบประเด็นการตั้งราคาขายสูงจริง คืออ้างว่า ราคาจริงของกระทะอยู่ที่ใบละ 15,000 และ 18,000 บาท ซึ่งถือเป็น “การปลอมราคาจริง (Fake Original Price)” จึงมีมติสั่งระงับโฆษณาทั้งหมด
ขณะที่ นักวิชาการอิสระ ก็ออกมาแฉต้นทุน “กระทะโคเรียคิง” แค่ 358 บาท แต่โฆษณาขายเหยียบ 20,000 บาท
และวันที่ 15 พ.ย. 2566 ศาลได้นัดฟังคำพิพากษา ในคดีผู้บริโภค ฟ้องแพ่ง “กระทะโคเรียคิง” หลังดำเนินการสืบพยานเรียบร้อยแล้ว จึงนับเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์คดี ที่ยาวนาน
ขอบคุณที่มา : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค