เฮส่งท้ายปี 'ยูเนสโก' ประกาศรับรอง 'สงกรานต์' ในไทย ขึ้น มรดกโลก
ข่าวดีส่งท้ายปี 'ยูเนสโก' ประกาศรับรอง 'สงกรานต์ในประเทศไทย' เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ข่าวดีสำหรับประเทศไทย เมื่อล่าสุดวันนี้ (6 ธ.ค. 2566) ทาง 'ยูเนสโก' ได้ประกาศรับรอง 'สงกรานต์ในประเทศไทย' ประเพณีปีใหม่ไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
โดยทาง กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมสงเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนรายการ "สงกรานต์ในประเทศไทย" (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ต่อ 'ยูเนสโก' ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2563 โดยผ่านขั้นตอนในประเทศ ตั้งแต่กระบวนการจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนร่วมกับชุมชนผู้ถือครองและผู้ปฏิบัติ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และได้รับความยินยอมจากชุมชนไทย ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 เห็นชอบให้เสนอขอขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ในประเทศไทย" เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อ 'ยูเนสโก' ซึ่งเป็นการเสนอขอขึ้นทะเบียนรายการโดยประเทศเดียว (national nomination)
จากการประเมินเอกสารขอขึ้นทะเบียน สงกรานต์ ในประเทศไทยของคณะผู้ประเมิน (Evaluation Body) ได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ให้พิจารณาขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารเป็นที่น่าพอใจตามเกณฑ์การพิจารณา โดย คณะผู้ประเมินยังแนะนำว่าเอกสารของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนและโปร่งใสเกี่ยวกับภัยคุกคามต่างๆ เผชิญอยู่ และแสดงให้เห็นว่ารัฐภาคีวางแผนที่จะจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการจัดทำบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ดี พร้อมมีแนวทางการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันที่ชัดเจน
พันธผูกพันธ์หลังจากการขึ้นทะเบียน กัน ยูเนสโก
เมื่อมรดกภูมิปัญญาฯ ได้รับการทะเบียนแล้ว รัฐภาคี จะต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ ต้องเสนอรายงานสถานะของรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทุก 6 ปี โดยนำเสนอใน 7 ประเด็น ดังนี้
1. ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหน้าที่ทางสังคมและวัมนธรรมของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม บทบาทของผู้ถือครองและผู้ปฏิบัติที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
2. สถานการณ์ดำรงอยู่และความเสี่ยงในปัจจุบันของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
3. ความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของมรดกวัมนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ หลังจากที่ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
4. มาตรการที่ดำเนินการที่ส่งเสริมและสนับสนุนอันเนื้องมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
5. การมีส่วนร่วมของชุมชน และองค์กรในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
6. หน่วยงาน และองค์กรชุมชนที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการ และส่งเสิรมรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
7. การเปิดโอกาสให้ชุมชน กลุ่มต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดในกระบวนการจัดทำรายงาน