เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า มองต่าง องค์การอนามัยโลก - แนะ ไทย ใช้กฎหมายคุมการขาย
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ชี้กรณี องค์การอนามัยโลก สนับสนุนให้ไทยคงมาตรการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพของผู้ใช้ คนรอบข้าง รวมถึงปกป้องเด็กและเยาวชน เข้าข่ายเกาไม่ถูกที่คัน ด้วยความเป็นจริง ควร มีกฎหมายคุมการขาย การตลาด กำหนดอายุผู้ซื้อผู้ขาย
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนจากเพจลาขาดควันยาสูบ เปิดเผยว่า จากแถลงการณ์ของผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ในประเทศไทย ในงานเสวนาการแถลงการณ์องค์การอนามัยโลก เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าภัยคุกคามต่อเด็กและเยาวชน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยสนับสนุนให้ไทยคงมาตรการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพของผู้ใช้และคนรอบข้างรวมถึงปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ ในส่วนของเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า นำโดยเพจ "ลาขาดควันยาสูบ (ECST)" และเพจ "มนุษย์ควัน" ขอแสดงจุดยืนที่ต้องการให้ไทย มีกฎหมายควบคุมการขาย การตลาด การกำหนดอายุผู้ซื้อผู้ขาย การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อปกป้องผู้บริโภค และป้องกันผู้ใช้หน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชน เข้ามาแทนที่
"บุหรี่ไฟฟ้ามีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย และปัญหาเยาวชนไทยเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องจริงในปัจจุบันที่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ แม้เราจะมีมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้ามาเกือบ 10 ปี แล้วก็ตาม คงเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะทำให้ไม่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเลย การคงมาตรการห้ามขาย ทำให้เกิดคำถามที่น่ากังวลว่าสินค้าที่อยู่ใต้ดินเข้าถึงง่ายเหล่านี้มีคุณภาพและความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน การไม่ควบคุมเลยจะทำให้เกิดอันตรายมากกว่ากับทุกฝ่ายในรูปแบบที่คาดไม่ถึง ดังนั้น ทางออกเดียวคือจำเป็นต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุมอย่างเหมาะสม ตั้งข้อสังเกตุว่าทำไม WHO ไม่ไปร้องเรียกให้สหรัฐฯ อังกฤษ ประเทศกลุ่มอียู เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นแบนบุหรี่ไฟฟ้าบ้าง แทนที่จะเคลื่อนไหวในเรื่องนี้กับประเทศไทย" นายมาริษ กล่าว
มาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนจากเพจลาขาดควันยาสูบ
นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน จากเพจมนุษย์ควัน กล่าวว่า สถิติเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าในไทย ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากร้อยละ 3.3 ในปี 2558 ในช่วงเริ่มต้นการแบนในไทย เป็นร้อยละ 9.1 ในปี 2566 ขณะที่ประเทศที่มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ก็พบปัญหาเดียวกัน โดยออสเตรเลียภายหลังการมีคำสั่ง ให้มีใบสั่งยาสำหรับการใช้และการขายบุหรี่ไฟฟ้าในปี 2564 จำนวนเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็สูงขึ้นจากร้อยละ 9.8 เป็นร้อยละ 14.5 ในปี 2566 ขณะที่ประเทศที่มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ มีสถิติเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 8 ร้อยละ 6 ร้อยละ 5 และร้อยละ 3.7 ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่าประเทศที่มีการแบนอยู่
" WHO ไม่เคยกำหนดให้ทุกประเทศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหากห้ามจริง บุหรี่ไฟฟ้าคงไม่ถูกกฎหมายแล้วในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ความหวังที่อยากให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นศูนย์ในไทยคงยากที่จะเป็นจริงได้ สิ่งที่ไทยควรทำและทำได้ตอนนี้ คือเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้ทำงานโดยพิจารณาเหตุและผลอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงด้านสุขภาพเท่านั้น ต้องคำนึงถึงบริบทของสังคมไทยตอนนี้ด้วย เราเคยลดจำนวนเยาวชนที่สูบบุหรี่มวนลงได้ด้วยกฎหมายกำหนดอายุผู้ซื้อและผู้ขาย เหตุใดจึงไม่เชื่อว่ากฎหมายจะสามารถช่วยป้องกันเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าได้เช่นเดียวกัน ดีกว่าปล่อยให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีการควบคุมทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยได้อย่างอิสระแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" เขา กล่าว