รู้สาเหตุแล้ว รางนำไฟฟ้า 'รถไฟฟ้าสายสีชมพู' หล่นทับรถ เกิดจากอะไร
เปิดสาเหตุ รางนำไฟฟ้า 'รถไฟฟ้าสายสีชมพู' หล่นทับรถ ไม่ได้เกิดจากระบบ รถไฟฟ้า สุริยะ ย้ำ พร้อมเยียวยาผู้เสียหายทุกราย
ความคืบหน้า เหตุราง “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ร่วงหล่นทับรถยนต์เสียหายหลายคน บนถนนช่วงหน้าตลาดชลประทาน ถนนติวานนท์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ระยะทางยาว 4 กิโลเมตร ส่งผลให้ต้องหยุดการเดินรถทุกสถานีชั่วคราว เพื่อเร่งตรวจสอบ และเคลียร์พื้นที่ ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุ พร้อมเผยสาเหตุที่ทำให้ รางระบบไฟฟ้า หล่นลงมา
นายสุริยะ เปิดเผยว่า ก่อนที่ “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” จะให้บริการประชาชน ทาง รฟม. จะมีรถตรวจความเรียบร้อยระบบราง ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งขณะที่รถไฟฟ้าที่มาตรวจราง คือ รถตรวจการ กำลังวิ่งตรวจ ปรากฎว่า น่าจะมีเศษดิน ที่เกิดจากบริษัทของผู้รับเหมา ที่กำลังจะคืนพื้นที่ในการก่อสร้าง ยกเครนขึ้น เพื่อจะไปดึงชิพพลายไม่ให้ดินถล่ม แล้วพอดึงชิพพลายขึ้น เศษดินก็ไปติดรถตรวจการ ทำให้พอมีดินมาติด รางที่จ่ายไฟเกิดแรงกระชากแล้วล้มลงมา พอล้มลงมา ก็ไปพาดสายไฟ และทำให้เสาไฟฟ้าล้มลงมา ซึ่งเรื่องนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดกับขบวนโดยสารรถไฟฟ้า
“ปกติรางจะไม่หล่นลงมาอย่างแน่นอน หากไม่มีดินไปติดล้อ โดยสาเหตุดังกล่าว มาจากการก่อสร้าง คืนพื้นที่ แล้วดินลงรถไปที่รถตรวจการ ซึ่งผมคิดว่าเหตุการณ์นี้ไม่น่าเกิดง่ายๆ ในอนาคต โดยระหว่างการก่อสร้างจะพยายามดูเรื่องนี้ และเชื่อว่า ถ้าไม่มีดินไปติดรถตรวจการ ก็ไม่น่ามีปัญหา ส่วนดินที่ไปติดรถตรวจ สันนิษฐาน ว่า จังหวะที่เครนไปดึงชิพพลาย พอดึงชิพพลาย ก็อาจจะกระเด็นทำให้เศษดินเข้าไปได้” นายสุริยะกล่าวยืนยัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้มาสร้างความมั่นใจ และกำชับ รฟม.ให้ตรวจสอบตลอดเส้นทาง และได้เร่งรัดให้เกิดความเรียบร้อย เรื่องการก่อสร้างบริเวณด้านล่างด้วย ส่วนรางรถไฟที่ตกลงมา จะมีรถมายกเก็บ แล้วจะนำรางมาติดตั้งใหม่ คาดว่า ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ซึ่งจะไม่มีการปิดการจราจร เพราะดำเนินการช่วงกลางคืน ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหาย จะได้รับการเยียวยาทั้งหมด
ด้าน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่า รฟม. อธิบายเพิ่มเติมว่า ดินไปติดที่ตัวราง แล้วพอรถตรวจการมา ล้อรถก็ไปเบียดกับตัวราง พอวิ่งๆ ไป มันเบียดแล้วก็ไปกระชาก ด้วยน้ำหนักของตัวรถ ก็ทำให้น็อตจุดยึดหลุด แล้วแรงกระชาก ทำให้ขาดยาวเลย 4 กิโลเมตร ซึ่งสาเหตุเกิดจากการก่อสร้างที่มีการถอนชิพพลาย ส่วนแนวทางการป้องกันในอนาคต ก็คงต้องระวังของสูงใต้รถไฟฟ้าด้วย
ผู้ว่า รฟม. ย้ำว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากระบบของรถไฟฟ้า แต่เกิดจากการก่อสร้างใต้รถไฟฟ้า และน็อตที่ยึด ยืนยันว่า มีความแข็งแรง แต่ขบวนรถ หนักประมาณ 100 ตัน พอเบียดกระชาก เลยทำให้น็อตหลุด และการกระชากทำให้รางขาด แต่ยืนยันว่า ถ้าไม่มีน้ำหนักเป็น 100 ตัน มากระชาก น็อตไม่หลุดแน่นอน ส่วนท่อนเหล็ก ที่ร่วงลงมา ผู้ว่า รฟม.บอกว่า คือขาที่เป็นปุ่มๆ ด้านข้างหล่นลงมา เพราะเป็นรางจ่ายไฟ วัสดุเหมือนชนวนกันไฟ ที่จะไม่ให้ประกบกับรางโดยตรง ดังนั้น เมื่อเกิดกระชาก เศษวัสดุ ชนวนกันไฟหล่นลงมา ซึ่งมองเผินๆ อาจจะเหมือนคอนกรีต แต่ไม่ใช่
อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ จะเปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตามปกติ ช่วงสถานีเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ-มีนบุรี ส่วนสถานีที่ได้รับความเสียหาย จะใช้เวลาติดตั้งใหม่ 7 วัน