ข่าว

'บขส.' แจงปม 'หมอชิต 2' หลัง สส.ก้าวไกล เปิด 14 ปัญหาที่ประชาชนพบเจอ

'บขส.' แจงปม 'หมอชิต 2' หลัง สส.ก้าวไกล เปิด 14 ปัญหาที่ประชาชนพบเจอ

29 ธ.ค. 2566

"บขส." แจงปม "หมอชิต 2 " หลัง แบงค์ ศุภณัฐ สส.ก้าวไกล ลงพื้นที่จี้แก้ไข 14 ปัญหา ที่มีประชาชนร้องเรียน เผย บันไดเลื่อนใช้งานนาน 26 ปี ปิดบริการเหตุไม่มีอะไหล่ พร้อมเร่งแก้ไขพื้นที่ชำรุดให้เร็วที่สุด

29 พ.ย. 2566 บริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ชี้แจงกรณี นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส. กทม เขต 9 (จตุจักร-บางเขน-หลักสี่) พรรคก้าวไกล ซึ่งลงพื้นที่ สถานีขนส่งหมอชิต 2 และได้โพสต์ภาพ และระบุปัญหาที่มีประชาชนร้องเรียนกับ 14 ข้อ ทั้งบันไดเลื่อนเสีย , ที่นั่งรอไม่เพียงพอ, มีการขายตั๋วผี ,วินเถื่อน จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว 
 

ล่าสุด  บขส. ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า บขส.เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทจดทะเบียนบริษัทตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็น การบริหารงานเพื่อบริการประชาชนแบบไม่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน ขอชี้แจง กรณีพื้นที่การให้บริการของ สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 มีความไม่เรียบร้อย ถึง 14 ประการ ขอเรียนข้อเท็จจริง ดังนี้
 

บขส. แจงปม หมอชิต 2 หลัง สส.ก้าวไกล จี้แก้ไข

 

 

1. ข้อกล่าวหาต่อระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น บันไดเลื่อนเสีย  ลิฟต์ ไม่ได้ให้บริการ ห้องปฐมพยาบาลปิด ห้องให้นมบุตรปิด จุดดับเพลิงเสีย ชานชาลาไม่มีห้องแอร์ 

 

บริษัทฯ ได้ดำเนินการบริหารงานสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่ได้เช่าที่จากการรถไฟมาถึงขณะนี้เป็นเวลา 26 ปี ให้เกิดความเรียบร้อย ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร ถึงแม้ว่าอาคารรับรองผู้โดยสาร ชานชาลา จะมีอายุ และได้ปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัยมาโดยตลอด โดยงบประมาณของบริษัท 

 

 

บันไดเลื่อนปิดรอซ่อมบำรุง เนื่องจากไม่อะไหล่

 

 

ปัจจุบันบริษัทจำเป็นต้องปิดบันไดเลื่อนชุดที่ติดตั้งมา 26 ปี เนื่องจากไม่สามารถหาอะไหล่ได้ และถึงแม่จะเปิดได้ในข่วงเทศกาลก็จะปิดเพราะอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนหากมีเหตุคนล้นอาคารชานชาลาในช่วงเทศกาล

 

ส่วนลิฟต์ และระบบสาธารณูปโภค เช่น จุดดับเพลิง แอร์คอนดิชั่น ที่อาคารผู้โดยสาร นั้น ขอยืนยันว่าใช้งานได้ทุกจุด ส่วนห้องปฐมพยาบาลบริษัท เปิดให้บริการตลอด ห้องให้นมบุตร โดยขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำห้อง เนื่องจากหากเปิดไว้ตลอดอาจเป็นจุดลับตาในการก่อให้เกิดเหตุอาชญากรรมได้ 

 

 

ห้องน้ำไม่สามารถใช้บริการได้

 

 

สำหรับในส่วนพื้นที่ทิ้งร้างนั้น เป็นพื้นที่เพื่ออยู่การพาณิชย์ อยู่นอกอาคาร และเป็นส่วนการให้บริการ เดิมเป็นจุดเชื่อมต่อกับเขตเดินรถที่ 8 ของ ขสมก. แต่ในช่วงปี 2563-2566 ที่ผ่านมาไม่มีผู้เช่า บริษัทจึงทำการปิดพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาโดยรื้อสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมดและพัฒนาเป็น Transpotation Hub ตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดการเชื่อมต่อ แบบไร้รอยต่อ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำ ผังและแบบการพัฒนา ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี 

 

 

พื้นที่ถูกทิ้งร้างเนื่องจากไม่มีผู้เช่า

 

 

2. ในเชิงบริการ การเชื่อมต่อผู้โดยสาร  บขส.ยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาการให้บริการที่ผ่านมา ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่หมอชิต 2 ได้โดยระบบรถโดยสารสาธารณะได้หลายสาย และในช่วงตั้งแต่รัฐบาลได้เข้ามาบริหาร ประเทศได้มีนโยบายในการเชื่อมต่อและบูรณาการระบบการขนส่ง บขส. จึงได้ประสานงานกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการส่งผู้โดยสารขาเข้าโดยมีจุดแวะส่ง ที่สถานี กลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการมาวันที่ 15 ธ.ค. 2566 มีประชาชนใช้บริการการเชื่อมต่อในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ บริษัท ยังได้ประสานงานกับ ขสมก. ในการ จัดให้มีรถของ ขสมก. เข้ามาจอดในบริเวณชานชาลา ภายในบริเวณสถานี จำนวน 12 สาย ซึ่งได้เริ่มทดลองให้บริการตลอดเดือน ธ.ค. 2566 และมีประชาชนใช้บริการมากถึง 77,000 ราย และจะเพิ่มจำนวนสายทางเพิ่มขึ้นในเส้นทางที่ประชาชนเดินทาง 

 

 

จุดเชื่อมต่อรถเมล์ที่มีการประสานกับ ขสมก.ในการรับส่งผู้โดยสาร

 

 

สำหรับการปราบปรามผู้มีอิทธิพล วินแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์เถื่อน ทาง บขส. ได้ดำเนินการมีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการ ดำเนินการจับกุมผู้บุกรุก ผู้กระทำความผิดกฏหมาย ในทุกวัน อย่างไรก็ดี บริษัท จะทำการ จัดการขั้นเด็ดขาดต่อผู้กระทำความผิดผู้บุกรุกและดำเนินคดีอาญาอย่างเข้มงวดในทุกรายต่อไป

 

บขส. ยังได้ชี้แจงอีกว่า ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา บริษัทฯ ประสบปัญหาการขาดทุน เนื่องจากการเดินทางในระบบรถขนส่งสาธารณะระหว่างเมืองได้รับความนิยมลดลง  ตลอดจนประสบปัญหาสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ประสบปัญหาการขาดทุนถึง 3 ปีซ้อน

 

 

บขส. แจงปม หมอชิต 2 หลัง สส.ก้าวไกล จี้แก้ไข

 

 

อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาการให้บริการในปี 2566 ที่ผ่านมา บขส. สามารถฟื้นฟูสถานะทางการเงินให้ดีขึ้น ด้วยการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายสูงขึ้นมากกว่าปี 2565 ถึงประมาณ 1,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน บขส.ยังไม่มีหนี้สิน และพร้อมที่จะพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอาคาร ชานชาลา และสิ่งอำนวยความสะดวกตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการโดยเร็วที่สุดและขอน้อมรับข้อติชมจากทุกฝ่ายเพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ ให้อยู่ในระดับเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายต่อไป
 

บขส. แจงปม หมอชิต 2 หลัง สส.ก้าวไกล จี้แก้ไข

 

 

ในส่วนของราคาค่าโดยสานรถ 30 ที่มีผู้ร้องเรียนว่ามีการขายตั๋วเกินราคา น.ส.ระพิพรรณ วรรณพินทุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ชี้แจงว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะมีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก ทำให้รถโดยสารในเที่ยววิ่งปกติ ไม่เพียงพอ บขส.จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ30) มาวิ่งให้บริการเสริมในเส้นทางๆ โดยใช้รถมาตรฐาน 1 พ ทำให้อัตราค่าโดยสารจะสูงกว่าเที่ยวปกติ ประมาณ 15-20 % ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

 

 

น.ส.ระพิพรรณ วรรณพินทุ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)

 

 

เนื่องจากรถ 30 มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการตีรถเปล่ากลับมารับผู้โดยสาร ทำให้การคิดค่าโดยสารจะคิดในอัตราต้นทางปลายทาง ในเส้นทางสายยาว เช่น กรุงเทพ-เชียงใหม่ แต่หากผู้โดยสารต้องการลงในจังหวัดระหว่าง สามารถเลือกใช้บริการรถเสริมในเส้นทางอื่น เช่น กรุงเทพ-นครสวรรค์ ,กรุงเทพ-โคราช เพื่อเดินทางต่อได้เช่นกัน ทั้งนี้บขส.ได้ย้ำให้ผู้ประกาศติดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน เพื่อแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ 

 

ส่วนประเด็นเรื่องของพนักงานบริการไม่ดี พูดจาไม่สุภาพกับผู้โดยสาร ผู้ร้องเรียนสามารถแจ้งรายละเอียด เช่น ชื่อพนักงาน เส้นทาง ได้ที่จุดร้องเรียนของบขส และกรมการขนส่งทางบก ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ ทั้ง 3 แห่ง (จตุจักร, เอกมัย, บรมราชชนนี) หากพบมีการขายตัวเกินราคาปรับ ใบละ 10,000 บาท