
เคาะเพิ่ม วันหยุด 'วันสงกรานต์ 2567' อีก 1 วัน หยุดจุใจรวม 5 วัน
ครม. เคาะเพิ่ม วันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ 'วันสงกรานต์ 2567' เพิ่มอีก 1 วัน หยุดจุใจรวม 5 วัน พร้อมเช็ก วันหยุดราชการ ตลอดปี 2567
'วันสงกรานต์ 2567' คนไทยได้เฮ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกำหนด วันหยุดราชการ เพิ่มเป็นกรณีพิเศษในปี 2567 ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอ โดยกำหนดให้ วันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2567 เป็น วันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ อีก 1 วัน ในปี 2567
ในกรณีที่หน่วยงานใดมีภารกิจในการให้บริการประชาชน หรือมีความจำเป็นหรือราชการสำคัญใน วันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ดังกล่าว (ตามข้อ 1) ที่ได้กำหนดหรือนัดหมายไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหากยกเลิกหรือเลื่อนไปจะเกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยราชการนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและกระทบต่อการให้บริการประชาชน
ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงานพิจารณาความจำเป็นเหมาะสมของการกำหนดให้วันดังกล่าวข้างต้นเป็นวันหยุดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เนื่องด้วยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ประชาชนจำนวนมากจะเดินทางกลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การจราจรเกิดความหนาแน่นและติดขัด ดังนั้น เพื่อให้เกิดการกระจายตัวและความคล่องตัวในการเดินทางของประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ จึงเห็นควรกำนหดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษในปี 2567 เพิ่มเติม จำนวน 1 วัน คือ วันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2567
ทั้งนี้ การกำหนดให้วันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2567 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษอีก 1 วัน จะทำให้มีวันหยุดราชการติดต่อกัน รวม 5 วัน (วันศุกร์ที่ 12 - วันอังคารที่ 16 เมษายน 2567)
2. การกำหนดให้วันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2567 เป็นวันหยุดราชการ ประจำปี 2567 เพิ่มเป็นกรณีพิเศษดังกล่าว จะทำให้ภาพรวมวันหยุดราชการประจำปี 2567 มีจำนวนวันหยุดรวมทั้งสิ้น 21 วัน ดังนี้
- วันจันทร์ที่ 1 มกราคม 2567 วันขึ้นปีใหม่
- วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 วันมาฆบูชา
- วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 (วันหยุดชดเชยวันมาฆบูชา)
- วันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2567 วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์
- วันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2567 (วันหยุดชดเชยวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์)
- วันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2567 วันหยุดราชการที่จะกำหนดเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ
- วันเสาร์ที่ 13 - วันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2567 วันสงกรานต์ (รวม 3 วัน)
- วันอังคารที่ 16 เมษายน 2567 (วันหยุดชดเชยวันสงกรานต์)
- วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม 2567 วันฉัตรมงคล
- วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2567(วันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล)
- วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
- วันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2567 วันวิสาขบูชา
- วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2567 วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
- วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567 วันอาสาฬหบูชา
- วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2567 วันเข้าพรรษา
- วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2567 (วันหยุดชดเชยวันเข้าพรรษา)
- วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวิชาราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
- วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2567 (วันหยุดชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวิชาราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว)
- วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2567 วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันแม่แห่งชาติ
- วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2567 วันนวมินทรมหาราช
- วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2567 (วันหยุดชดเชยวันนวมินทรมหาราช)
- วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2567 วันปิยมหาราช
- วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2567 วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ
- วันอังคารที่ 10 ธันวาคม 2567 วันรัฐธรรมนูญ
- วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2567 วันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ
- วันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2567 วันสิ้นปี
ทั้งนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดให้ วันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2567 เป็น วันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ อีก 1 วัน ในปี 2567 เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายตัวในการเดินทางของประชาชนเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเวลาดังกล่าว และยังส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
นอกจากนี้ การที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษล่วงหน้าจะช่วยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ รวมทั้งภาคเอกชนสามารถวางแผนการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสมต่อไป