5 มี.ค. 'วันนักข่าว' เปิดที่มา ทำไมต้องเป็นวันนี้ เปิดรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้ง
5 มีนาคม 'วันนักข่าว' เปิดที่มาและความสำคัญ ทำไมต้องเป็นวันนี้ เปิดรายชื่อ 16 หนังสือพิมพ์ ที่ร่วมลงนามก่อตั้ง
'วันนักข่าว' หรือ 'วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ' ในประเทศไทย ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับ วันสถาปนา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ซึ่งก็คือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน
ประวัติ
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2498 โดย นักข่าว รุ่นบุกเบิก จำนวน 15 ท่าน โดย หนังสือพิมพ์ แทบทุกฉบับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวันสำคัญของพวกตนเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นประเพณีที่ทราบกัน ระหว่างหนังสือพิมพ์กับผู้อ่านว่า วันที่ 6 มี.ค. ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของบรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย แต่แล้วหนังสือพิมพ์ก็แอบออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มี.ค. เนื่องจากประชาชนในฐานะผู้อ่านเกิดความตื่นตัว และมีความต้องการที่จะบริโภคข่าวสารที่มากขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 4 มี.ค. ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี แต่เดิมมา งานทั้งสองจัดขึ้น ณ ที่ทำการสมาคมฯ อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน ซึ่งบริเวณริมฟุตบาทใกล้เคียง ก็เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาเหยี่ยวข่าว นัดพบปะสังสรรค์กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลัง จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถนนราชดำเนินยังเป็นถนนสายหลัก มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถานที่ยังคับแคบ ส่งผลให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรไปมา จึงได้ย้ายสถานที่จัดการประชุมไปยังโรงแรมต่างๆ ตามความเหมาะสม
ต่อมา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เข้ารวมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2542 แต่ยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสมาคมฯ และ วันนักข่าว จนถึงปัจจุบัน
รายชื่อ 16 หนังสือพิมพ์ ที่ร่วมลงนามก่อตั้ง 'วันนักข่าว'
1. หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์
2. หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์
3. หนังสือพิมพ์ข่าวสยาม
4. หนังสือพิมพ์ซินเสียง
5. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
6. หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว
7. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
8. หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย
9. หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
10. หนังสือพิมพ์หลักเมือง
11. หนังสือพิมพ์ศิรินคร
12. หนังสือพิมพ์สยามนิกร
13. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
14. หนังสือพิมพ์สากล
15. หนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์
16. หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์