วราวุธ ประกาศ 5 นโยบาย 'พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร'
รมว.พม. แถลง 5 นโยบายเร่งด่วน "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร" เสริมพลังวัยทำงาน ผู้สูงอายุ เพิ่มคุณภาพเด็กและเยาวชน เพิ่มโอกาสคนพิการ ระดมทุกภาคส่วนร่วมกันออกแบบนโยบาย - มาตรการ ทำหนังสือปกขาวเข้า ครม. - เสนอที่ประชุม UN
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ 'พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร' ว่า ประเทศไทยเข้าสู่ 'สังคมผู้สูงอายุ' แบบเต็มรูปแบบ ถ้า 'อัตราการเกิด'ของประเทศไทยยังคงวิกฤตอย่างวันนี้ อีก 60 ปีประชากรของไทยจาก 66 ล้านคนจะเหลือเพียงราว 31-32 ล้านคน แต่ในระยะสั้นอาจจะเกิดอะไรรวดเร็วขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราต้องมาแก้กัน อันดับแรกเรื่องของภาวะเจริญพันธุ์น้อยลง 'อัตราการเกิด'น้อยลง โดยในปี 2500 มีอัตราการเกิดต่อสตรี 1 คน จะมีลูก 6 คน หรือคิดเป็น 6:1 แต่ในปัจจุบันอัตรการเกิดอยู่ที่ 1:1 เท่านั้น ในทางกลับกันอัตรการอยู่ คนมีอายุเฉลี่ยมากขึ้นด้วยพัฒนาการทางการแพทย์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 76 ปี ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ยที่ 80 ปี ผู้ชายเฉลี่ยที่ 73 ปี เห็นได้ว่าประเทศไทย 'อัตราการเกิด' น้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต จากสถิติพบว่าจากปี 2562 - 2566 คนไทยหายไปเกือบ 5 แสนคน
วันนี้ประเทศไทยกลายเป็น 'สังคมผู้สูงอายุ' แบบเต็มรูปแบบ Aged Society อีกไม่นานเราจะกลายเป็น SuperAged Society หรือสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดแบบประเทศญี่ปุ่น จึงเกิดเป็นคำถามว่า ใครจะดูแล 'ผู้สูงอายุ' ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2550 อัตรการซัพพอร์ตหรือการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุ1คน มีวัยทำงานซัพพอร์ตประมาณ 6 คน หรือ 1:6 คน แต่ในวันนี้อัตรากาซัพพอร์ตลดลงเหลือเพียง 3.2:1 เท่านั้น และในอีก10ปีข้างหน้าจะลดลงเหลือเพียง 2:1 เท่านั้นแนวโน้มผู้สูงอายุ NearElderly (50-59 ปี) ต้องดูแลผู้สูงอายุในวัย 80+ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ในด้านของงบประมาณของรัฐในการจัดสวัสดิการดูแลเบี้ยยังชีพของคนกลุ่มต่างๆ ปี 2566 เราใช้งบประมาณราว 7.7 หมื่นล้าน ในการดูแล 'ผู้สูงอายุ' ประมาณ 10.3 ล้านคน ในปัจจุบันมีการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ซึ่งคาดว่าในปี 2572 งบประมาณการดูแลผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.26 แสนล้านบาท และหาก ต้องจ่ายเงินดูแลผู้สูงอายุ เพิ่มเป็น 1,000 บาทและจ่ายถ้วนหน้าภายใน 5 ปีต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุ 1.89 ล้านบาท นอกจากนี้ปัญหาด้านเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม 'ผู้สูงอายุ' เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งระบบประกันสังคมอาจล้มละลายได้ ในด้านของค่าใช้จ่ายสุขภาพ หรือระบบประกันสุขภาพ จะสูงสุดในวัยสูงอายุและช่วงท้ายของชีวิต คาดกันว่าหากมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคนใน 5 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายระบบประกันสุขภาพอยู่ในสภาพหน้าวิกฤตจะสูงถึงประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท
รมว.พม. กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ท้าทายคือปัจจุบันประชากรวัยเด็กและแรงงานน้อยลง และผลิตภาพของประชากรยังคงอยู่ในระดับต่ำ จำนวนประชากรที่ลดลงย่อมต้องอาศัยประชากรที่มีคุณภาพสูงกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว เพื่อรักษาผลิตภัณฑ์ให้เท่าเดิมหรือเร่งระดับผลิตภาพให้เพิ่มสูงขึ้น โดยผลลัพธ์ทางการศึกษาของไทย ยังไม่สามารถพัฒนาให้ผู้เรียน มีความรู้และสมรรถนะตามหลักมาตรฐานสากล ทั้งด้าน วิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ยังคงต่ำกว่ามาตรฐานสากล และผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้านคุณภาพประชากรที่วัดจากผลลัพธ์ด้านการศึกษาเชิงเปรียบเทียบต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านและสังคมโลก
ในขณะเดียวกันครอบครัวไทยกำลังเลือนหาย ครอบครัวที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.4 ในปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 21.4 ในปี 2565 โดยเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของเด็กไทยอยู่ในครอบครัวที่พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อและแม่เท่านั้น ครัวเรือนที่ 'ผู้สูงอายุ' อยู่ลำพังหรืออยู่กับคู่สมรสลำพังเพิ่มขึ้น
วิกฤตทางด้านประชากรจากการเกิดที่ลดลงต่ำมาก ขณะที่การสูงอายุทางประชากรที่เป็นไปด้วยอัตราเร่งและเร็วขึ้นในขณะที่คุณภาพของประชากรยังอยู่ในระดับต่ำ จะทำให้โอกาสที่ประเทศจะก้าวหน้าจากกับดักรายได้ปานกลางเป็นไปได้ยาก เพราะตลาดเล็กลงผู้ผลิตและผู้บริโภคน้อยลงมาก อาจนำไปสู่การถดถอยของปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งอย่างส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อสวัสดิภาพทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของครอบครัว
จึงควรมีการปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิด คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม เปลี่ยนกี่รัฐบาล กี่นายกก็ไม่ช่วย โดยมีแนวทางการปรับเปลี่ยน ดังนี้
1. ประชากรทุกคนที่มีอยู่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า สามารถพึ่งตนเองและเป็นกำลังในการพัฒนาสังคมได้โดยมีครอบครัวเป็นหน่วยที่สำคัญในการสร้างและพัฒนาคุณภาพ
2.เปลี่ยนจากสังคมปัจเจก เป็นสังคมเอื้ออาทรบนพื้นฐานความพอเพียง อยู่คนเดียวไม่รอดแต่ต้องรวมกันเพื่อรอด ไม่ได้มีแต่สิทธิ์ แต่ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคมส่วนรวมด้วย ต้องเปลี่ยนค่านิยมจากสังคมที่มุ่งแข่งขันเป็นสังคมที่อยู่บนความพอเพียงเป็นธรรมเพื่อให้ทุกคนรอด
3. ทำงานแบบเดิมไม่ได้อีกแล้วต้องทำทันทีทำงานเชิงรุกทำงานเป็นทีมทุกภาคส่วนประชานิยมจะทำให้รัฐล่มจมแน่นอนเปลี่ยนสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นโอกาสถ้วนหน้า
ทั้งนี้นายวราวุธ ได้นำเสนอนโยบายที่ต้องเร่งทำทันทีตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงของครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร เป็น 5 นโยบาย คือ
- เสริมพลังวัยทำงาน
- เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของเด็กและเยาวชน
- สร้างพลังผู้สูงอายุ พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส
- เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ
- สร้างระบบนิเวศ Eco System เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว
นโยบายที่ 1 คือการเสริมพลังวัยทำงานให้ตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะเป็น 'ผู้สูงอายุ' อย่างมีคุณภาพในอนาคต
- ตั้งตัวได้ คือการสร้างงานที่มีคุณค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และลดการย้ายถิ่นฐาน (work from any where ) ส่งเสริมความรู้ด้านอาชีวอนามัย และการป้องกันจากโรคเรื้อรัง (Healthy work Place) ปฏิรูประบบการวางแผนและการบริหารจัดการด้านแรงงานต่างด้าว เสริมกำลังแรงงาน และรักษาระดับผลิตภัณฑ์และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
- สร้างและดูแลครอบครัวได้ โดยการสร้างสมบูรณ์ดุลในชีวิตการทำงาน และครอบครัว (Work Life Balance) ระบบสวัสดิการการดูแลเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และบริการดูแลผู้สูงอายุช่วงกลางวันที่มีคุณภาพ เสริมศักยภาพของครอบครัวและชุมชนในการดูแลสมาชิกในชุมชน เสริมบทบาทหญิงชายในการสร้างและร่วมกันรับผิดชอบต่อครอบครัว คู่คิด คู่สร้าง ร่วมทางชีวิต ระบบสวัสดิการครอบครัวไทยในยามที่วิกฤตหรือภัยพิบัติต่างๆให้สามารถล้มและลุกได้อย่างรวดเร็ว
- พร้อมที่จะสู้อย่างมีคุณภาพ โดยเร่งพัฒนาศักยภาพทำงาน ของประชากรรุ่นสึนามิ (40-59 ปี) ในปัจจุบันให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานสามารถเปลี่ยนงานให้เหมาะสมกับวัยได้ สร้างค่านิยมการทำงานเชิงเศรษฐกิจอย่างสูงอายุ เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม เทคโนโลยี และนวัตกรรม เสริมทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตเช่น ด้านสุขภาพ ด้านการจัดงานเงิน ด้านดิจิตอลดิจิตอล
นโยบายที่ 2 เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน เด็กน้อยแต่ต้องเปี่ยมด้วยคุณภาพ โดยการเร่งปฏิรูปคุณภาพการศึกษาพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างตนสร้างครอบครัว และสังคม บนพื้นฐานของคุณธรรมและการมีจิตสาธารณะ ปรับระบบนิเวศการเรียนรู้หลักสูตรระบบการสอนเทคโนโลยีนวัตกรรมสื่อการสอนและสมรรถนะครูผู้สอน พัฒนาระบบการศึกษาตอบสนองการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตสามารถนำความรู้และทักษะไปใช้ได้จริงโดยเฉพาะท้องถิ่นในการสนับสนุนระบบนิเวศการเรียนรู้ความรู้ สร้างความตระหนักและความเข้าใจ การวางแผนชีวิตครอบครัวให้แก่เด็กและเยาวชน วางแผนชีวิตการทำงาน วางแผนการสร้างครอบครัวเพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และส่งเสริมให้สร้างครอบครัวที่มั่นคงเมื่อพร้อม ปรับบทบาทของโรงเรียนให้เป็นโรงเรียน 3 วัยใช้พื้นที่ในการอบรมให้ความรู้กับประชากรวัยทำงานและวัยสูงอายุเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาระบบอาชีวะควบคู่กับการศึกษาสามัญโดยเน้นพัฒนาให้สอดรับกับการเติบโตทิศทางการพัฒนาและอุปสงค์แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ
นโยบายที่ 3 สร้างพลัง 'ผู้สูงอายุ' ด้วยการผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส เสริมสร้างพลังผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ ผู้สูงอายุคือผู้เชี่ยวชาญ และเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ที่มีค่า ปรับเปลี่ยนระบบการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่น เหมาะกับศักยภาพหรือสมรรถนะ 'ผู้สูงอายุ' ทั้งเรื่องเวลาและสถานที่ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขยายอายุการทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน ขยายอายุเกษียณราชการออกไปอีก 5 ปี โดยไม่ทำงานในตำแหน่งบริหาร ส่งเสริมให้ภาคเอกชนขยายอายุการทำงานของลูกจ้างสูงอายุ และส่งเสริมการจ้างผู้สูงอายุเข้ามาใหม่ เป้าหมายคือเพิ่มสัดส่วนของผู้สูงอายุให้คงอยู่ในระบบแรงงานให้เพิ่มขึ้น มีระบบสนับสนุนครอบครัว และชุมชนในการดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุปริมาณชุมชน ระบบดูแลสุขภาพระยะกลาง ระบบดูแลสุขภาพระยะยาว ระบบทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุมีระบบการให้ข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตแก่ผู้สูงอายุเพื่อหาเพื่อให้สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารและรู้ทันการเปลี่ยนแปลง
นโยบายที่ 4 เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าของคนพิการ โดยการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ และระบบการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพสร้างเส้นทางอาชีพ ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ปรับระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น work from Anywhere และระบบและสร้างระบบสนับสนุนการทำงานสำหรับคนพิการ ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเพิ่มการเข้าถึงเพื่อลดข้อจำกัดทางร่างกายของคนพิการ เสริมศักยภาพของครอบครัวและชุมชนในการดูแลคนพิการและกลุ่มเปราะบางที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้แบบองค์รวมอย่างมีคุณภาพ
นโยบายที่ 5 สร้างระบบนิเวศ Eco System เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว โดยเร่งผล เร่งพลิกฟื้นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเน้น Green Economy เพื่อสร้างความสมดุลของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งจะเพิ่มคุณภาพชีวิตประชากร และทำให้ชุมชนน่าอยู่ น่าสร้างครอบครัว ปรับสภาพแวดล้อมในพื้นที่สาธารณะและระบบบริการสาธารณะให้ผู้สูงอายุและคนพิการสามารถใช้ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมธนาคารอุปกรณ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนกายอุปกรณ์ให้คนพิการผู้สูงอายุและชุมชน พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะที่เอื้อและใส่ใจทุกกลุ่มทุกวัย และส่งเสริมสื่อสาร สาธารณะที่สร้างสรรค์ในการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวและความเข้าใจในระหว่างวัย ติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบายและปรับเปลี่ยนนโยบายให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงด้วยระบบข้อมูลด้านประชากรที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน ปรับปรุงข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคกับการดำเนินงาน พัฒนาคนสร้างความมั่นคงของมนุษย์และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรองรับสังคมสูงวัยพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง เช่นในทุกระดับ ตั้งแต่รัฐบาลกระทรวงจังหวัดท้องถิ่นและชุมชนเพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการทั้งหมดให้สำเร็จ
โดยในงานครั้งนี้ มีการ Workshop ระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในรูปแบบ World Café จากกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มระบบนิเวศน์เพื่อความมั่นคงของครอบครัว โดยมี ผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้บริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่าย NGOs และองค์กรประชาสังคม องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ สื่อมวลชน และอินฟลูเอนเซอร์ เข้าร่วมด้วย รวมกว่า 400 คน
หลังจากการประชุมวันนี้ พม. จะจัดทำสมุดปกขาว 'พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์' รวบรวมข้อเสนอจากทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันออกแบบนโยบาย มาตรการ และขับเคลื่อนพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวสู่ความมั่นคงของมนุษย์ ไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ นำไปสู่การขับเคลื่อนเป็นนโยบายของทุกกระทรวง และจะได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2567 ต่อไป