'วราวุธ' เปิด 25 มาตรการ แผนแม่บท 'แก้วิกฤตประชากรไทย' ก่อนเสนอ UN
รมว.พม. เปิด 25 มาตรการ แผนแม่บทแก้วิกฤตประชากรไทย 5 กลุ่ม พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย เร่งทำสมุดปกขาว ชงครม. ก่อนนำเสนอเวที UN
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวในการแถลงข่าวผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ 'พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร' ว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ 'พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร' ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการจุฬาอารี และ World Bank โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อย Workshop 5 กลุ่ม ในรูปแบบ World Café ทั้งนี้ ผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ รวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน ได้ร่วมกันระดมความคิดอย่างเต็มที่ เพื่อกำหนดมาตรการสำคัญ เร่งด่วน ในการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทยสู่ความมั่นคงของมนุษย์ ดังนี้
1.กลุ่มวัยทำงาน มุ่งเสริมพลังวัยทำงานให้สามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน คือ
- เพิ่มโอกาส พัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพประชากร วัยทำงาน (Reskill / Upskill)
- ส่งเสริมการมีงานทำ และรายได้ ด้วยการกระจายงานสู่พื้นที่และชุมชน บทบาทของอปท.การสร้างงานในท้องถิ่น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน หรือเงินกู้ดิกเบี้ยต่ำเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ รวมทั้งควรมีการบูรณาการฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงาน ทั้งอุปสงค์และอุปทานแรงงาน
- ส่งเสริมการออมภาคบังคับ ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ วัยทำงานออมเพื่ออนาคต
- ส่งเสริมสุขภาพของ วัยทำงาน เน้นปรับสถานที่ทำงานให้ถูกสุขภาวะ Healthy and Happy Workplace เพิ่มสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมมากขึ้น
- ส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและครอบครัว เช่น ผู้สูงอายุช่วงกลางวัน สวัสดิการลาเพื่อดูแลบุตร ทำงานแบบยืดหยุ่นไม่จำกัดสถานที่ และส่งเสริมบทบาทชายหญิงร่วมกันดูแลครอบครัว เป็นต้น
2.กลุ่ม เด็กและเยาวชน มุ่งเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน
- การส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาให้เข้มแข็ง
- ดูแลสุขภาพกายและใจของเด็กและแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์
- จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน รับเด็กอายุน้อยลง โดยชุมชนช่วยจัดการ
- พัฒนาทักษะชีวิตและวิชาชีพตามวัย สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เป็นพลวัตร
- ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน
3. กลุ่ม ผู้สูงอายุ มุ่งสร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน
- ส่งเสริมการมีพฤติกรรมการสุขภาพที่พึงประสงค์ของ ผู้สูงอายุ เน้นป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค
- ขยายโอกาาทางเศรษฐกิจให้ ผู้สูงอายุ ส่งเสริมการจ้างงานและขยายอายุเกษียณ พัฒนาทักษะที่จำเป็น ส่งเสริมการมี Digital Literacy และลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคการทำงานของผู้สูงอายุ
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการดูแล ผู้สูงอายุ ในชุมชน เช่นจัดระบบบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนโดยชุมชน ส่งเสริมให้มีการเกื้อหนุนผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชน
- ส่งเสริมสภาพแวดล้อมทั้งภายในบ้าน และนิกบ้านที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมและการเดินทางของผู้สูงอายุ
- ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติ เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการครบวงจรกับผู้สูงอายุ
4. กลุ่ม คนพิการ มุ่งเพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน
- เพิ่มโอกาสทางการศึกษาของคนพิการ ตามศักยภาพ
- เพิ่มการจ้างงานในทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมศักยภาพคนพิการ และจัดทำฐานข้อมูล คนพิการเพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงาน
- ส่งเสริมพลังของ คนพิการ ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม
- ป้องกันการพิการแต่กำเนิดและการพิการทุกช่วงวัย
- ส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ โดยใช้หลักการ Universal Design
5. กลุ่มระบบนิเวศเพื่อความมั่นคงของครอบครัว มุ่งสร้างระบบนิเวศ (Eco-system) ที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ
- Family support services: ระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทั่วถึง มีมาตรฐานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยคำนึงถึงแนวคิดสวัสดิการแบบมุ่งเป้าเพื่อเป็นหลีกประกันเมื่อเผชิญเหตุวิกฤต
- การสร้างชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มทุกวัย (Community for all)
- การสร้างบ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย (Housing for all) ทุกกลุ่มเป้าหมาย
- การส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ด้วยการหยุดทำร้ายธรรมชาติ และส่งเสริม Green Economy
รมว.พม. กล่าวว่า มาตรการสำคัญ เร่งด่วน ทั้งหมดที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ทางกระทรวง พม. จะนำไปจัดทำสมุดปกขาว 'พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์' เสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน 2567 จากนั้นจะไปเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2567 ต่อไป