สธ.นำชาติอาเซียนจัดตั้ง 'ศูนย์อาไก' ส่งเสริมสุขภาพ 'ผู้สูงอายุ' ครบวงจร
สธ. เตรียมลงนามความตกลงประเทศเจ้าบ้าน กับศูนย์อาเซียนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและคุณค่าสังคม 'ผู้สูงอายุ' ด้วยนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI ) หรือ 'อาไก' สร้างองค์ความรู้ และ นวัตกรรม แบบครบวงจร ในวันที่ 11 มี.ค นี้
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เข้าสู่ 'สังคมผู้สูงอายุ' แล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อด้านสุขภาพ เศรฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงได้เสนอและสนับสนุนการจัด 'ตั้งศูนย์อาไก' และได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฯดังกล่าว โดยได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนมีการลงนามความตกลงว่าด้วยการจัดตั้ง (Agreement on the Establishment of the ACAI)
โดยผู้แทนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียน ครบทั้ง 10 ประเทศ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ไทยเป็นประเทศเจ้าบ้านของศูนย์อาไก ซึ่ง 'ศูนย์อาไก' จำเป็นจะต้องได้รับความเป็นนิติบุคคล และ เอกสิทธ์ ตามกฎหมายไทยตามความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement) เพื่อให้ศูนย์ฯและสำนักงานของศูนย์ฯสามารถดำเนินงานในประเทศไทยได้ตามวัตถุประสงค์ เป็นที่มาของการจัดพิธีลงนามความตกลงประเทศเจ้าบ้าน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม 2567
โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะลงนามในความตกลงดังกล่าวในนามรัฐบาลไทย กับ นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ในนามประธานกรรมการบริหาร 'ศูนย์อาไก'
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ร่วมกับ กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการจัดตั้ง 'ศูนย์อาไก' โดยได้สนับสนุนทั้งกำลังคน งบประมาณ และ สถานที่ในการจัดตั้งศูนย์ฯ โดยสำนักงานของศูนย์อาไกจะตั้งอยู่บนชั้นที่ 3 อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย กรมการแพทย์ ที่จะมีพิธีเปิดอาคารในวันที่ 11 มีนาคม 2567 เช่นกัน โดยหลังจากศูนย์ฯได้รับความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยแล้ว รัฐบาลไทยจะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานของศูนย์ฯปีละไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปีเป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่อง
เพื่อให้ศูนย์ฯมีความมั่นคงสามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งเชื่อมั่นว่าการดำเนินการของศูนย์ฯดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาองค์ความรู้ และ นวัตกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัย และ ส่งเสริมคุณค่าของ ผู้สูงอายุ ให้ยังคงเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศ ภายใต้ความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศรวมทั้งภาคีองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต