ข่าว

ครม. เห็นชอบ พ.ร.บ.ควบคุม "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" โยนถามสภา พิจารณา 8 ประเด็น

ครม. เห็นชอบ พ.ร.บ.ควบคุม "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" โยนถามสภา พิจารณา 8 ประเด็น

12 มี.ค. 2567

ครม. เห็นชอบ พ.ร.บ.ควบคุม "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" โยนถามสภา พิจารณา 8 ประเด็น ให้ สธ. ออกประกาศ-กฎกระทรวง กำหนดสถานที่ วันเปิด-ปิด ดื่มแอลกอฮอล์

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การปรับปรับปรุงแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุม "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 5 ฉบับ ซึ่งสืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 มีนาคม 2567 นายกรัฐมนตรี เห็นว่าพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและศีลธรรม อีกทั้งมีกฎหมายค้างอยู่ในสภาหลายฉบับ

 

 

จึงมอบหมายให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปศึกษาข้อกฎหมาย ซึ่งได้ข้อสรุปใน 8 ประเด็นคือ 

 

  1. เห็นควรที่จะยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 หรือไม่ 
  2. ควรจะอนุญาตให้จำหน่าย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมหรือสถานบริการที่ใกล้เคียงกับสถานศึกษาหรือไม่ 
  3. การอนุญาตให้ขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ทางราชการที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมควบคุมโรค จากเดิมเป็นร้านค้า สโมสรหรือสถานที่แสดงดนตรี 
  4. ผู้มีอำนาจในการกำหนดวันและเวลาห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 กำหนดให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี จะเปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ 
  5. การแก้ไขผู้รักษาการ 
  6. การทำตลาดออนไลน์เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมทั้งกรณีที่ผู้ผลิตแอลกอฮอล์เป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ 
  7. กำหนดรายละเอียดข้อความที่ระบุบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่ต้องมีข้อความในลักษณะที่เป็นการเชิญชวนให้บริโภค 
  8. ยกเลิกการควบคุมและวิธีการ หรือลักษณะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมาตรา 30 ของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

 

 

ซึ่งทั้งหมดนี้ คณะรัฐมนตรี เห็นว่า กฎหมายของแต่ละฝ่ายยังมีความสุดโต่ง ดังนั้นพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของกระทรวงสาธารณสุขที่กฤษฎีกาตรวจแล้ว จึงถูกส่งไปที่วิปรัฐบาลและเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเกิดการถกเถียงอย่างเหมาะสม และให้ตัวแทนประชาชนเป็นคนตัดสินว่าในมิติต่างๆ เห็นควรเป็นอย่างไร หรือฉบับไหนเหมาะสมที่สุด ให้ สภาผู้แทนราษฎร ไปพิจารณาทั้งหมด โดยไม่ยึดฉบับใดฉบับหนึ่ง