ข่าว

"สุริยุปราคา 2567" เกิดกี่ครั้ง วันไหนบ้าง ประเทศไทยมีสิทธิเห็นไหม

"สุริยุปราคา 2567" เกิดกี่ครั้ง วันไหนบ้าง ประเทศไทยมีสิทธิเห็นไหม

08 เม.ย. 2567

เช็ก ปรากฏการณ์ "สุริยุปราคา 2567" ปีนี้ เกิดกี่ครั้ง มีวันไหนบ้าง ประเทศไทยมีสิทธิเห็นหรือไม่ ประเทศไหนเห็นชัดสุด

"สุริปราคา 2567" ปีนี้ เกิดขึ้นกี่ครั้ง และเกิดขึ้นวันไหนบ้าง ซึ่ง สุริยุปราคา ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี แล้วแต่ว่าจะเกิดขึ้นช่วงเวลาไหน และจุดไหนที่จะได้เห็น โดยทาง สมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้เปิดเผลข้อมูลที่ได้มีการคำนวณไว้ล่วงหน้า ซึ่ง สุริยุปราคา ในปีนี้ จะเกิดขึ้น 2 ครั้ง

 

 

สุริยุปราคาเต็มดวง 8-9 เม.ย. 2567

 

วันที่ 8-9 เม.ย. 2567 ตามเวลาประเทศไทย เกิด สุริยุปราคาเต็มดวง ที่ ดวงจันทร์ มีขนาดปรากฏใหญ่กว่า ดวงอาทิตย์ จนสามารถบดบังดวงอาทิตย์ได้มิดหมดทั้งดวง สังเกตเห็นได้ภายในแนวเส้นทางแคบๆ เริ่มในมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วผ่านประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา แคนาดา และตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก

 

จุดที่เห็น สุริยุปราคาเต็มดวง นานที่สุดอยู่ในทะเล เกิดขึ้นเวลา 01:17 น. ของวันที่ 9 เม.ย. ตามเวลาไทย (ยังเป็นวันที่ 8 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น) คราสเต็มดวงนาน 4 นาที 28 วินาที ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 1.3% และเงามืดบนผิวโลกมีความกว้างราว 197 กิโลเมตร หลายรัฐของสหรัฐอเมริกาอยู่ในแนวคราสเต็มดวง ได้แก่ เท็กซัส โอคลาโฮมา อาร์คันซอ อิลลินอย อินดีแอนา เคนทักกี โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย นิวยอร์ก เวอร์มอนต์ นิวแฮมป์เชอร์ และเมน

 

แนวคราสเต็มดวงเคลื่อนผ่านทะเลสาบอีรีและทะเลสาบออนแทรีโอ ซึ่งอยู่ในแนวพรมแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดา และผ่านด้านตะวันออกของแคนาดา ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของรัฐออนแทรีโอ ควิเบก นิวบรันสวิก ส่วนเล็กๆ ของ โนวาสโกเชีย พรินซ์เอดเวิร์ดไอแลนด์ รวมถึงรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ เมืองโทรอนโตและออตตาวาอยู่นอกเขตเงามืด จึงเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนที่ดวงอาทิตย์เหลือเสี้ยวบางๆ แต่มอนทรีออลเห็น สุริยุปราคาเต็มดวง ได้นาน 1 นาที

 

บริเวณที่เห็น สุริยุปราคาบางส่วน ครอบคลุมด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก เกือบทั้งหมดของทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง ตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก รวมทั้งพื้นที่ส่วนน้อยทางตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป

 

 

วันที่เกิด "สุริยุปราคา" เป็นช่วงที่ ดาวหาง 12พี/ปงส์-บรุกส์ (12P/Pons-Brooks) ผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ ผู้ที่อยู่ในแนว "สุริยุปราคาเต็มดวง" มีโอกาสจะสังเกตดาวหางดวงนี้ได้ด้วยกล้องสองตา หรือถ่ายภาพสุริยุปราคาเต็มดวงโดยมีดาวหางอยู่ในภาพ (ดาวหางอยู่ห่างดวงอาทิตย์ 25°) คาดว่าอาจมีโชติมาตรประมาณ 4-5 อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในแนวคราสเต็มดวง ไม่แนะนำให้มองหา ดาวหาง เพราะการดูสุริยุปราคาเต็มดวงในเวลาที่จำกัด ย่อมสำคัญกว่าดาวหางที่ไม่ค่อยสว่างนัก ดาวหางดวงนี้เป็นดาวหางรายคาบที่เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เฉลี่ยทุกประมาณ 71 ปี การกลับมาในคราวนี้สังเกตได้ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากขณะสว่างที่สุด ดาวหางอยู่ห่างจากโลก และมีตำแหน่งปรากฏอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์

 

 

สุริยุปราคาวงแหวน 2-3 ต.ค. 2567

 

วันที่ 2 ต.ค. 2567 เกิด สุริยุปราคาวงแหวน เป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ห่างโลกจนมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ แนวคราสวงแหวนครั้งนี้ส่วนใหญ่อยู่ในมหาสมุทร แผ่นดินที่เห็น สุริยุปราคาวงแหวน คือ ตอนใต้ของประเทศเปรูและอาร์เจนตินาในทวีปอเมริกาใต้

 

ที่กึ่งกลางคราสเกิด สุริยุปราคาวงแหวน นาน 7 นาที 25 วินาที เงาคราสวงแหวนกว้างราว 267 กิโลเมตร ดวงจันทร์มีเส้นผ่านศูนย์กลางปรากฏ 95.2% ของดวงอาทิตย์ แนวคราสวงแหวนผ่านเกาะอีสเตอร์ (ดินแดนปกครองของประเทศชิลี) เกิด สุริยุปราคาวงแหวน นานประมาณ 6 นาที บริเวณที่เห็น สุริยุปราคาบางส่วน ได้แก่ ส่วนใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก ทางใต้ของทวีปอเมริกาใต้ บางส่วนของแอนตาร์กติกา รวมทั้งส่วนเล็กๆ ของเม็กซิโก

 

 

หมายเหตุ : ผลการคำนวณเวลาเกิด จันทรุปราคา ขั้นตอนต่างๆ ในที่นี้ ใช้วิธีซึ่งคำนึงถึงสัณฐานที่เป็นทรงกลมแป้นของโลก (เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวเส้นศูนย์สูตรยาวกว่าในแนวขั้ว) อันส่งผลให้เงามีรูปร่างเป็นวงรีเล็กน้อย โดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยที่ได้จากการวัดเวลาของการเกิดจันทรุปราคาหลายครั้งในอดีต เวลาที่คำนวณได้จึงต่างกันเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลการคำนวณที่ตีพิมพ์ใน Astronomical Almanac ซึ่งใช้วิธีดั้งเดิมโดยกำหนดให้เงาโลกเป็นวงกลม นอกจากนี้ยังมีพารามิเตอร์ที่ต่างกันในการชดเชยผลจากบรรยากาศโลก และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอนของคาบการหมุนของโลก ซึ่งส่งผลต่อการพยากรณ์เวลาของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ทั้งหมด