รอชมคืนนี้ "สถานีอวกาศนานาชาติ ISS" ผ่านน่านฟ้าไทย เห็นได้ด้วยตาเปล่า
ชวนคนไทย รอชมคืนนี้ "สถานีอวกาศนานาชาติ ISS" โคจรผ่านน่านฟ้าไทย สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช็กเวลาโคจรผ่านไทยที่นี่
เพจ สมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดข้อมูลเชิญชวน คนไทย เตรียมความพร้อม ชม "สถานีอวกาศนานาชาติ ISS" ซึ่งขะโคจรผ่านน่านฟ้าประเทศไทยในช่วงค่ำวันที่ 5 เม.ย. 2567 ซึ่งในครั้งนี้สามารถมองได้ด้วยตาเปล่า
โดยสามารถรับชมได้ในคืนวันศุกร์ที่ 5 เม.ย. 2567 ตั้งแต่เวลา 19:48 น. - 19:52 น. ขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มุมเงยสูงสุด 55° มีโชติมาตรปรากฏ -3.3 มีความสว่างกว่า ดาวพฤหัสบดี เกือบ 4 เท่า
สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนจังหวัดอื่นๆ เห็นได้ทั่วประเทศเวลา และความสว่างแล้วแต่สถานที่แตกต่างกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก
นายพรชัย รังษีธนะไพศาล
อุปนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย
สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) หรือ ISS เป็นห้องปฏิบัติการลอยฟ้าซึ่งโคจรรอบโลกที่ระยะสูง 410 กิโลเมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 27,744 กิโลเมตร/ชั่วโมง โคจรรอบโลก 1 รอบใช้เวลา 92 นาที สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือจาก 16 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เดนมาร์ก สวีเดน เบลเยียม เนเธอร์แลน์ สเปน อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และบราซิล
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการค้นคว้าและทดลองทางวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาได้แก่ ดาราศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา วัสดุศาสตร์ ชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ เนื่องจากสถานีอวกาศอยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถทำการทดลองหรือประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งไม่สามารถกระทำบนพื้นผิวโลกได้ ดังนั้นสถานีอวกาศนานาชาติจึงมีความสำคัญต่ออนาคตของมนุษยชาติเป็นอย่างมาก
ภาพ : เพจ สมาคมดาราศาสตร์ไทย
ข้อมูล : วิกิพีเดีย