กกท.ซื้อลิขสิทธิ์ 5 มหกรรม 480 ล้าน
รอดูโอลิมปิกพ่วงเอเชี่ยนเกมส์
พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองด้านการพัฒนากีฬา เป็นประธานในการประชุมหารือการถ่ายทอดสดและสิทธิประโยชน์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เมื่อวันที่ 10 กันยายน โดยมี ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท., ศ.เจริญ วรรธนะสิน รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และตัวแทนจากบริษัท เดนท์สุ เอ็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กับ บริษัท แพลน บี มีเดีย จํากัด (มหาชน) ผู้ดูแลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในประเทศไทย ร่วมประชุม
ภายหลังการประชุม ดร.ก้องศักด เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้เรื่องหลักคือการถ่ายทอดสดโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ กกท. ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มาซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด โดย กกท.ก็ได้หารือกับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบส่งนักกีฬาเข้าแข่งจึงหารือแนวทางการทำงานร่วมกันในการถ่ายทอดสดให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดแก่ประชาชน
ผู้ว่าการกกท. กล่าวต่อว่า ขั้นตอนในขณะนี้ อยู่ในเรื่องของการดูข้อกฎหมายต่างๆ ในการจะไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คือ บริษัท เดนท์สุ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ที่มอบหมายให้ บริษัท เดนท์สุ เอ็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กับ บริษัท แพลน บี มีเดีย จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ดูแลในประเทศไทย ซึ่งกกท.จะเป็นผู้ที่เข้าไปผูกพันในสัญญาต่างๆ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย เมื่อดำเนินการเสร็จ ก็ต้องให้คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ รับรองศักยภาพการถ่ายทอดสด หลังจากเซ็นสัญญาเรียบร้อยก็จะทำงานร่วมกัน วางแผนถ่ายทอดสดอย่างไร และส่งเสริมการถ่ายทอดสดอย่างไรต่อไป
“บิ๊กก้อง” กล่าวอีกว่า เรื่องของค่าลิขสิทธิ์ได้มีการต่อรองกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะได้ทั้งหมด 5 มหกรรมคือ โอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน 2020 ,โอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว 2022 , ยูธโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน 2022 , ยูธโอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว 2020 และเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 2022 มูลค่ารวม 480 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จะไม่ใช้เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติทั้งหมด โดยจะมีการหาเงินจากเอกชนเข้ามาร่วม เพื่อมาชดเชยเงินกองทุนฯทั้งหมด จากนั้นค่อยคำนวณภายหลังว่ารัฐบาลลงเงินไปเท่าไหร่ แต่สิ่งสำคัญคือประชาชนไทยจะได้เข้าถึง และได้รับชมการถ่ายทอดสดแน่นอน ผ่านทางฟรีทีวี, แอพลิเคชั่นออนไลน์ และทีสปอร์ต
“การถ่ายทอดสดโอลิมปิกเกมส์เป็นกิจกรรมหนึ่งที่อยู่ในวัตถุประสงค์ในการใช้เงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่สามารถใช้ส่งเสริมพัฒนา ในวงการกีฬาต่างๆ อันนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเรื่องการเล่นกีฬา ชมกีฬา สร้างแรงบันดาลใจ จึงถือว่าอยู่ในขอบข่ายที่สามารถกระทำได้” ผู้ว่าการกกท.กล่าว