เปิดโมเดลถ่ายสด"ฟุตบอลโลก 2022" กสทช. รับหน้าเสื่อ - กกท. ดึง 2 ช่องทีวี เสียบ
วงใน "กกท." เผย ถ่ายทอดสด"ฟุตบอลโลก2022" ใกล้สะเด็ดน้ำ มี 2 โมเดล ที่วางไว้ คือ ให้กสทช.เข้ามารับหน้าที่พระเอก ประสานงานกับทุกฝ่าย นำสัญญาณไปแพร่ภาพ ส่วนค่าลิขสิทธิ์ กสทช.รับไป ฟากกกท. ต่อรองราคา เพื่อให้ได้ราคาดีที่สุด หรือให้ 2 ช่องทีวี รับไปดำเนินการ กกท.ต่อรองราคาให้
แหล่งข่าวจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท. ) เปิดเผยกับ " คมชัดลึก"ว่า การแพร่ภาพการแข่งขัน "ฟุตบอลโลก2022" แข่งขัน 20 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม ภายใต้แนวทางที่คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ( บอร์ดกกท. ) ซึ่งมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้สั่งการในที่ประชุมบอร์ด กกท. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย รับไปดำเนินการในการประสานงาน กับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลทางสถานีโทรทัศน์ ในแบบรับชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เรื่องดังกล่าว ทางผู้ว่ากกท. กำลังเร่งดำเนินการ และมีความเป็นไปได้ว่า จะทราบข้อสรุปถึงรูปแบบการดำเนินการ เร็วที่สุดคือภายในวันศุกร์นี้ หรือช้าที่สุดคือต้นสัปดาห์หน้า
ขณะนี้แนวทางในการบริหารหารการจัดการถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก 2022 " มี 2 แนวทางที่กกท. วางไว้ คือ แนวทางแรก ส่งเรื่องให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช. ) รับไปดำเนินการ โดยงบประมาณในการซื้อลิขสิทธิ์การแพร่ภาพ กสทช. จะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณเข้าไปดำเนินการ และกสทช.จะทำหน้าที่เชื่อมความร่วมมือกับ สถานีโทรทัศน์ ทั้ง สถานีหลัก หรือ สถานีที่จะร่วมเป็นเครือข่าย ส่วนบทบาทของ กกท. คือการประสานงาน ไปยังสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ "ฟีฟ่า " ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ การแพร่ภาพ เพื่อให้กระบวนการในการซื้อลิขสิทธิ์ ดำเนินการได้อย่างสะดวกและทันต่อเวลา ที่สำคัญคือการช่วยเจรจา เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม เข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ งบประมาณที่มาจากกสทช. อันเป็นหน่วยงานรัฐ หรือ งบประมาณที่เป็นการซื้อโดยภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชน ไม่แบกรับการลงทุน เพราะสิ่งที่ภาคเอกชนทำ ( แพร่ภาพการแข่งขัน) แม้ว่าจะเป็นธุรกิจ แต่ก็เป็นบริการทางสังคม เพื่อที่รัฐจะไม่ต้องลงทุนทั้งหมด
ตอนนี้กระบวนการในแง่ของการถ่ายทอดสด มี 2 ตัวเลือก คือ ใช้งบที่ กสทช. มีอยู่นำไปใช้ในการซื้อลิขสิทธิ์ และเชื่อมโยงสัญาณถ่ายทอดไปยังสถานีโทรทัศน์ที่ทำข้อตกลงกันเอาไว้ ส่วนผลตอบแทนทางธุรกิจอื่นใด นอกเหนือไปจากนี้ จะเป็นการเจรจาในขั้นตอนต่อไป หรือในกรณีที่สองคือ ให้ภาคเอกชนดำเนินการ โดย กกท. ทำหน้าที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการเจรจากับทางผู้ถือลิขสิทธิ์ ซึ่งแนวทางนี้ มีสถานีโทรทัศน์ 2 ช่องด้วยกัน ที่แสดงความสนใจ ต่อการนำสัญญาณไปแพร่ภาพ ทั้งรูปแบบ เป็นพันธมิตร เพื่อกระจายการรับชมทั้ง 2 ช่อง แบ่งกันไปในแต่ละช่วงเวลา โดยสูตรนี้ อยู่ระหว่างหารือเช่นกัน ระหว่างทั้ง 2 สถานี
โดย 2 ช่อง ดังกล่าว หรือ 2 สถานี จะดึงพันมิตร ที่เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายคมนาคมไร้สาย เข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย ซึ่งข้อสรุปในเรื่องนี้ ระหว่าง ให้อำนาจ กสทช. ดำเนินการเองทั้งหมด หรือ ให้ ภาคเอกชน ที่ประกอบด้วยสถานีโทรทัศน์ 2 ช่อง ร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เป็นผู้ดำเนินการ แนวทางใดแนวทางหนึ่ง จะได้ข้อสรุปเร็วที่สุด คือ ทราบภายในสัปดาห์นี้ หรือ ช้าที่สุดคือ ต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งกระบวนการจะไม่ช้าไปจากนี้แล้ว เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าได้โดยเร็วที่สุด ส่วน ราคาลิขสิทธิ์คาดว่า จะอยู่ระหว่าง 400-500 ล้านบาท ไม่ได้ถึงหลักพันล้านบาท