นายกสมาคมฟุตบอล รับเสียงสะท้อนสมาชิก ไฟเขียว "ไทยลีก" รื้อโปรแกรมแข่ง
นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ดับไฟปัญหาสโมสรสมาชิกตำหนิการปรับโปรแกรมแข่งขันฟุตบอล "ไทยลีก" ให้จบเร็วขึ้น เพื่อเอื้อต่อการเตรียม ทีมชาติไทย ชุด U 23 ในการเข้าแข่งขันซีเกมส์ พฤษภาคม ปีหน้า สั่งผู้เกี่ยวข้องนำกลับไปหารือร่วมกัน เพื่อให้ได้ทางออกที่เหมาะสมที่สุด
พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การปรับตารางการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ " ไทยลีก" รายการไทยลีก 1 และไทยลีก 2 รวมทั้งโปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลถ้วย ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันก่อนหน้านี้ ระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย , บริษัทไทย จำกัด ( ฝ่ายจัดการแข่งขัน ฟุตบอลลีกอาชีพ ) สโมสรฟุตบอลอาชีพ โดยมีแนวทางเพื่อให้เอื้อ ต่อการเตรียม ทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 23 ปี เข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลซีเกมส์ ที่ประเทศกัมพูชา ในเดือนพฤษภาคม 2566
ซึ่งต่อมากลายมาเป็นประเด็นว่า สโมสรสมาชิกไม่เห็นด้วยกับ[เรื่องดังกล่าว ขณะนี้ได้สั่งการให้ ยุทธนา หยิมการุณ ผู้อำนวยการทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี, ฝ่ายเทคนิคและทีมชาติไทย ของสมาคมฯ ประสานไปยัง บริษัท ไทยลีก จำกัด ให้นำเรื่องโปรแกรม "ไทยลีก" กลับมาทบทวน ร่วมกับสโมสรสมาชิก โดยให้ทุกสโมสร ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อให้ฟุตบอลเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งฟุตบอลลีกอาชีพ และเป้าหมายในรายการต่าง ๆ ของ ทีมชาติไทยในระดับต่าง ๆ
กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานบริษัทไทยลีก จำกัด ฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ "ไทยลีก " เปิดเผยว่า การยกเลิกโปรแกรมฟีฟ่า เดย์ ในช่วงเดือน มีนาคมปีหน้า รวมถึงเลื่อนโปรแกรมปิดฤดูกาลฟุตบอลไทยลีกให้จบเร็วขึ้น เพื่อเปิดทางให้ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 มีเวลาในการเตรียมทีมไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ซึ่งจะมีการแข่งขันในเดือนพฤษภาคม จนทำให้หลายสโมสร ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจในครั้งนี้
โดยข้อเท็จจริงแล้ว มติในการยกเลิกฟีฟ่าเดย์ รวมถึงปิดฤดูกาลให้เร็วขึ้น ไม่ได้เป็นการตัดสินใจของสมาคมกีฬาฟุตบอลแหงประเทศไทย และ บริษัทไทยลีก โดยพลการ เดิมที มีการประชุมเรื่องนี้ ร่วมกับ ยุทธนา หยิมการุณ อุปนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการทีมชาติไทย
รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี มีการเชิญสโมสรสมาชิกเข้าร่วมการประชุมด้วย ต่างฝ่ายเห็นด้วยกับแนวทาง แต่เนื่องจากผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ มาจากตัวแทนของสโมสร เมื่อสอบถามถึงความเหมาะสม ไม่มีใครขัดข้อง แต่เมื่อนำเรื่องกลับไปแจ้งยังประธานสโมสร ก็เกิดปัญหาตามมา ในนามของบริษัท
ไทยลีก ยินดีที่จะรับฟังข้อเสนอของทุกสโมสรในเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้ทุกทีมไม่ได้รับผลกระทบ
อยากให้ทุกสโมสรเสนอทางออกในเรื่องนี้มา เพราะการแข่งขันเลก 2 จะมีขึ้นในช่วงเดือน มกราคม ปีหน้า ยังมีเวลาที่จะมาหารือ ไทยลีกอยากขอความร่วมมือให้ทุกสโมสร ส่งบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจเข้าร่วมการประชุม เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง กรวีร์ ระบุ
อนึ่ง วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ บริษัท ไทยลีก จำกัด ได้จัดการประชุมเพื่อวางแผนจัดตารางการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ฤดูกาล 2022/23 ในเลกที่สอง ( ครึ่งฤดูกาลหลัง ) ณ ห้องประชุมชั้น 1 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย การประชุมครั้งนั้น นำโดย ยุทธนา หยิมการุณ อุปนายกสมาคมฯ และผู้อำนวยการทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี พร้อมด้วย พาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฯ, กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานบริษัท ไทยลีก จำกัด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคและทีมชาติสมาคมฯ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขันบริษัทไทยลีก จำกัด, สโมสรสมาชิกไทยลีก 1 และไทยลีก 2
โดยสาระสำคัญ คือการจัดทำโปรแกรมการแข่งขันของฟุตบอลภายในประเทศ เพื่อให้มีระยะเวลาที่สอดคล้องกับ ทีมชาติไทยชุดใหญ่ และทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ( ทีมชุดซีเกมส์ ) ทั้งนี้ฟุตบอลไทยลีก 1 เลก 2 จะเปิดฤดูกาล วันที่ 21-22 มกราคม 2566 และปิดฤดูกาล 22 เมษายน 2566 (จากเดิมจะจบเดือนพฤษภาคม 2566) โดยจะมีการกระชับโปรแกรมไทยลีก ดังนี้ เพิ่มเกมกลางสัปดาห์ 2 นัด คือ วันที่ 14-16 มีนาคม 2566 และวันที่ 28-30 มีนาคม 2566
ทำให้ฟุตบอลไทยลีก จบฤดูกาลในวันที่ 22 เมษายน 2566 ซึ่งจบก่อนที่การแข่งขันกีฬาซีเกมส์จะเริ่มขึ้น ระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึง 16 พฤษภาคม 2565 ขณะที่ ฟุตบอลไทยลีก 2 จะขยับมาปิดฤดูกาลในวันที่ 9 เมษายน 2566 และมีการแข่งเพลย์ออฟ เพื่อชิงสิทธิ์เลื่อนชั้น โดยรองรองชนะเลิศ จะแข่งในวันที่ 15-16 เมษายน และ 22-23 เมษายน 2566 ส่วนรอบชิงชนะเลิศ สองนัด จะแข่งขันวันที่ 20 และ 27 พฤษภาคม ส่วนฟุตบอลถ้วย รอบชิงชนะเลิศ ของ รีโว่ ลีกคัพ และ ช้าง เอฟเอ คัพ จะแข่งขันในวันที่ 21 และ พฤษภาคม 2566
ดังนั้นฟุตบอลลีกอาชีพ และฟุตบอลถ้วยทั้งสองรายการ จะสอดคล้องและลงตัวกับการแข่งขันของทีมชาติ โดยเฉพาะอายุไม่เกิน 23 ปี ไม่มีการทับกับโปรแกรมแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึง 16 พฤษภาคม 2565 ที่ประเทศกัมพูชาอีกด้วย และฟุตบอลทีมชาติไทยชุดใหญ่ ก็จะมีการแข่งขันอุ่นเครื่องหลังจากฟุตบอลลีกจบลงแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การเร่งรัดให้จบฤดูกาล เพื่อใช้เวลากับการเตรียมทีมชาติชุด U 23 ได้กลายเป็นประเด็นให้ เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด วิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน โดยระบุถึงการทำาลายระบบการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ เพียงเพื่อมุ่งจะเป็นแชมป์ซีเกมส์ หรืออยู่เพียงแค่ระดับอาเซียนเท่านั้น ทั้งที่ควรจะก้าวข้ามจากอาเซียนไปยัง ฟุตบอลโลก ที่ถือเป็นเป้าหมายของทุกชาติ การเร่งรัดให้จบฤดูกาล คือ ความเสี่ยงที่จะทำให้นักฟุตบอลได้รับบาดเจ็บ เพราะมีโปรแกรมการแข่งขันที่ถี่มากไป
เนื้อความ ที่ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด วิพากษ์วิจารณ์ มีดังนี้
เลิกฝัน "ฟุตบอลโลก" แล้วมุ่งหน้าสู่ "พนมเปญ"
ที่เคยบอกว่าจะก้าวข้ามอาเซียน แล้วมองเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น คือ ระดับเอเซีย ทำอันดับให้ดีที่สุด
เพื่อไปให้ถึงฝันของคนไทยทั้งประเทศ คือ ทีมชาติไทย ได้สัมผัสฟุตบอลโลก สักครั้ง ธงชาติไทย ได้ไปสะบัดในสนามเวิลด์คัพสักที
ก็เป็นเพียงลมปาก ที่หาความเชื่อถือไม่ได้เลย
ถ้าสมาคมฯ ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ทีมชาติไทย จะมีเป้าหมายอะไรได้
สุดท้ายก็กลับมาวิ่งไล่ล่าหาแชมป์ในพื้นที่เล็กๆ เหมือนเดิมที่เป็นมาชั่วนาตาปี
เป้าหมายของสมาคมฯ และ ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการฟุตบอลไทย ก็ยังเป็น แชมป์อาเซียน แชมป์ซีเกมส์ ในขณะที่ชาติอื่นๆ ในอาเซียน เขามองไปในพื้นที่กว้างใหญ่ คือ เอเซีย กันแล้ว
ยกเลิก ฟีฟ่าเดย์ แล้ว ทำลายระบบลีกอาชีพ หยุดลีก เลื่อนลีก เร่งลีกให้จบเร็ว เพื่อที่จะเป็นแชมป์ซีเกมส์
นี่เป็นวิสัยทัศน์ ของ มือสมัครเล่น เป็นความคิดของคนที่ไม่รู้จักฟุตบอลอาชีพ และ เป็นการตัดสินใจของคนที่ย่ำอยู่กับที่ ไม่มีแนวคิดที่จะพัฒนาฟุตบอลไทย ให้เข้าใกล้เวทีฟุตบอลโลก แม้แต่น้อย
ระบบลีกอาชีพ คือ การพัฒนาฟุตบอลไทย ด้วยภาคเอกชน โดยที่รัฐบาล แทบจะไม่มีส่วนร่วมเลย
การพัฒนามาตรฐานฟุตบอลไทย ทั้ง ความสามารถ ความแข็งแรงของนักกีฬา และการจัดการทุกมิติของฟุตบอลไทย มาถึงจุดนี้
ถ้ารัฐบาลจะไม่สนับสนุน ก็อย่ามาทำลายระบบ ทำลายการพัฒนาฟุตบอลไทย ที่ต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง
การเอาเป้าหมาย แชมป์ซีเกมส์ มาเป็นตัวตั้ง แล้ว เร่งลีกให้จบเร็ว เพื่อจะดึงนักฟุตบอล U23 ไปเล่นรายการซีเกมส์ เป็นแนวคิด ที่คนทำฟุตบอล คนรักฟุตบอล คนเข้าใจฟุตบอล และ คนที่ให้ความสำคัญกับ แฟนฟุตบอล เขาไม่ทำกัน
การเร่งเกมในลีกอาชีพ ให้ปิดเร็ว เพิ่มเกมกลางสัปดาห์ อีก 2 นัด ในช่วงท้ายฤดูกาล เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้นักฟุตบอลบาดเจ็บ และ ไม่สามารถลงสนามได้
ถ้าเกิดขึ้น ก็เสียหายทั้งทีมชาติ สโมสรต้นสังกัด และตัวนักฟุตบอล เอง
แชมป์ซีเกมส์ มีความหมายกับสมาคมฯ มากถึงขนาดที่ สมาคมฯ ไม่สนใจลีกอาชีพ ไม่สนใจสโมสร ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาฟุตบอลไทย แล้วหรือ ?
ถ้าคิดกันได้แค่นี้ ก็ ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จที่พนมเปญ แต่ก็เลิกหลอกคนไทย ให้ฝันถึงฟุตบอลโลก เสียที
ฟุตบอลโลก เป็นเรื่องของมืออาชีพ ส่วน ซีเกมส์ เหมาะสมแล้วกับมือสมัครเล่น แบบสมาคม และ ผู้ใหญ่ในวงการกีฬาแบบไทยๆ
.
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube Official : https://www.youtube.com/user/KOMCHADLUEK