ไทยเดินหน้าเต็มสูบลงทุน 131 ล้าน สานต่อ"วิ่งเทรล" 2 รายการใหญ่
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้ากับการลุยอีเวนท์กีฬาที่เรียกว่า" วิ่งเทรล" ด้วยการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันราย Doi Inthanon Thailand By UTMB และ Amazean Jungle Thailand by UTMB มีผลปี 2566 -2571
การประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในหัวข้อ เศรษฐกิจและสังคม มีประเด็นเรื่องที่น่าสนใจคือการเสนอตัว ขอเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขัน"วิ่งเทรล"ระดับนานาชาติรายการ Thailand by UTMB ซึ่งคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอต่อกิจกรรม"วิ่งเทรล" ก็คือ เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทย เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่ง"วิ่งเทรล"ระดับนานาชาติ
จัดการแข่งขัน "วิ่งเทรล " 2 รายการ คือ รายการ Doi Inthanon Thailand By UTMB (รายการ Doi Inthanon) ประจำปี 2566 - 2568 (3 ปี) และ รายการ Amazean Jungle Thailand by UTMB (รายการ Amazean Jungle) ประจำปี 2566 - 2571 (6 ปี) "วิ่งเทรล" รายการแรก รายการ Doi Inthanon จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนรายการ Amazean Jungle จัดที่จังหวัดยะลา
สาระสำคัญต่อมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบในครั้งนี้ก็คือ เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อสมทบค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขัน "วิ่งเทรล" 2 รายการ (ร้อยละ 50 ของค่าลิขสิทธิ์) เป็นเงิน 65.55 ล้านบาท ค่าลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น 3,450,000 ยูโร คิดเป็นเงินไทย 131.10 ล้านบาท แบ่งเป็น รายการ Doi Inthanon ประจำปี 2566 - 2568 (3 ปี) 25.65 ล้านบาท , รายการ Amazean Jungle ประจำปี 2566 - 2571 (6 ปี) 39.90 ล้านบาท
"วิ่งเทรล" ได้รับการผลักดันในระดับรัฐบาล นับตั้งแต่สิงหาคม 2562 โดยต้นเรื่องในขณะนั้นคือ "กระทรวงกลาโหม " ที่เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานตามข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบการดำเนินการจัดกิจกรรม โดยมอบให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท.) เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักดำเนินการจัดการแข่งขันวิ่งเทรล ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
เป้าหมายคือผลักดันให้การแข่งขัน "วิ่งเทรล" ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นรายการระดับนานาชาติ ที่ผ่านมาการแข่งขันวิ่งเทรล เป็นรายการแข่งขันที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทั่วโลกมีสนามเทรลที่มีมาตรฐานจาก Ultra Trail Mont Blanc International (UTMBI) กว่า 4,000 แห่ง จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการแข่งขันวิ่งเทรลฯ รายการ Thailand By UTMB จำนวน 2 สนาม ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้เคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันวิ่งเทรลระดับนานาชาติมาแล้ว คือทั้งที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และที่อำเภอเบตงจังหวัดยะลา
"วิ่งเทรล" ได้รับการคาดหมายว่า นี่คือกีฬา ระดับโลกที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำรายได้เข้าประเทศ เกิดเป็นรายได้หมุนเวียนในประเทศ ซึ่งจากผลการสำรวจจากการแข่งขันวิ่งเทรล ใน 3 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ประเทศไทย จะบรรจุหรือเสนอตัวต่อการเป็นเจ้าภาพระยะยาว ด้วย นักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า 5,500 คน สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจมากกว่า 500 ล้านบาท ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากยิ่งขึ้น
ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในเรื่องความพร้อมด้านต่าง ๆ ที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกโดยสถานีโทรทัศน์ช่องกีฬาที่มีมาตรฐานสากลที่มีการยอมรับทั่วโลก (WORLDWIDE BROADCASTING) ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมกีฬา ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนภายในประเทศ ที่สำคัญคือสร้างโอกาสในการนำประเทศไทยสู่จุดหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านกีฬา
ก่อนหน้าที่ประเทศไทย จะสานต่อการทำหน้าที่การเป็นเจ้าภาพวิ่งเทรล ในรูปแบบของการจัดต่อเนื่อง ทั้ง 3 ปี และ 6 ปี กิจกรรมที่เป็นเหมือนการอุ่นเครื่องหรือนับถอยหลังก็คือ การจัดวิ่งเทรล รายการ ดอยอินทนนท์ ไทยแลนด์ บาย ยูทีเอ็มบี 2022 (Doi Inthanon Thailand by UTMB 2022) ซึ่งกำลังจะมีขึ้น ระหว่าง 8-11 ธันวามคม ที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดหมายรายได้หมุนเวียนไว้ที่ 1,000 ล้านบาท จากยอดผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มาจากทั่ว โลกกว่า 4,000 คน
เป็นกิจกรรมกีฬาอีกสาขาหนึ่งที่จะเกิดขึ้นส่งท้ายปี