กัมพูชา ยิ้ม 4 ประเทศซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด'ซีเกมส์ 2023 '
แนวคิดสร้างมูลค่าเพิ่มต่อการเป็นเจ้าภาพ"ซีเกมส์"ของประเทศกัมพูชา ด้วยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมถ่ายทอดสด"ซีเกมส์ 2023" จากประเทศสมาชิก ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ล่าสุดทางการกัมพูชายืนยันว่า มี 4 ประเทศ ที่แสดงความจำนงเข้าร่วม ขณะที่ประเทศไทยยังสงวนท่าทีเรื่องนี้
คณะกรรมการแห่งชาติของกัมพูชา :CAMSOC-CAMAPGOC ซึ่งมีบทบาท ต่อการทำหน้าที่บริหารและจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 หรือ "ซีเกมส์ 2023" และกีฬาคนพิการอาเซียนพาราเกมส์ 2023 ครั้งที่ 12 "อาเซียนพาราเกมส์" ครั้งที่ 12 ได้ประกาศความสำเร็จว่าขณะนี้มี 4 ประเทศ บรรลุการเจรจากับทางการกัมพูชา ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด "ซีเกมส์ 2023" ประกอบด้วย เวียดนาม มาเลเซีย , สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย
การตอบรับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการริเริ่มเป็นประเทศแรกของกัมพูชา ด้วยการจัดให้มีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ หรือค่าธรรมเนียมถ่ายทอดสดซีเกมส์ "ซีเกมส์ 2023" คือการริเริ่มที่จะเป็นผลดีให้กับทุกชาติที่จะเข้ามาทำหน้าที่เจ้าภาพซีเกมส์ สืบต่อจากกัมพูชา ซึ่งจะมีช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเจ้าภาพ ต่อการมีรายได้เข้ามาชดเชยกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อสร้างความพร้อมต่อการเป็นเจ้าภาพ
คณะกรรมการแห่งชาติของกัมพูชา : CAMSOC-CAMAPGOC ที่มี วัธ จำเริญ ทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ประกาศความสำเร็จในเรื่องนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการแถลงที่มีขึ้นกับสื่อมวลชนกัมพูชาและสื่อมวลชนต่างประเทศ ที่โรงแรมโสกา ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยตัวแทนภาครัฐของไทย ที่เข้าร่วมสังเกตุการณ์คือ พันโทรุจ แสงอุดม รองผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท.) ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา
กัมพูชา เจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 32 จัดการแข่งขัน 5-17 พ.ค. และกีฬาคนพิการอาเซียนพาราเกมส์ แข่งขัน 3-9 มิ.ย. ระบุว่า "กัมพูชา"กำลังทำในสิ่งที่เป็นการริเริ่มหรือสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการกีฬาระดับอาเซียนด้วยการขายลิขสิทธิ์ หรือจัดเก็บค่าธรรมเนียม "ซีเกมส์ 2023" การริเริ่มครั้งนี้จะเป็นความต่างเมื่อเทียบกับซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเวียดนามเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ซีเกมส์ 2021 จัดพ.ค. 2022 ที่ผ่านมา อนุญาตให้ถ่ายทอดสดจากประเทศเจ้าภาพโดยไม่คิดค่าบริการ
อย่างไรก็ตาม ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ซึ่งกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ มีการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด หรือจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เป็นรูปธรรม แนวทางดังกล่าวผ่านความเห็นชอบร่วมกันจากสมาชิกสภาสหพันธ์ซีเกมส์ ในการประชุมสภาซีเกมส์ (SEAGF Council Meeting) ซึ่งจัดขึ้นก.ค. 2022 ที่กรุงพนมเปญ
"กระบวนการขายลิขสิทธิ์การออกอากาศ มีความคืบหน้าไปถึง 50% แล้ว สถานีโทรทัศน์ต่างประเทศ 4 แห่ง ได้ซื้อลิขสิทธิ์ในการออกอากาศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย บวกกับกัมพูชา ซึ่งมีรายการโทรทัศน์กีฬากัมพูชา (CSTV) เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ร่วมกับกรมโทรทัศน์แห่งชาติกัมพูชา สำหรับในประเทศกัมพูชา การถ่ายทอดสดโดยสถานีโทรทัศน์ ไม่มีค่าใช้จ่าย เราให้บริการในแบบสาธารณะ เราขายสิทธิ์เฉพาะไปต่างประเทศ เขาซื้อสิทธิ์จากเรา เพื่อดำเนินการต่อให้กับคนของเขา ขณะนี้ถือว่าเราได้ขายสิทธิ์ของเราไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าเรามีการสนับสนุน 50% และกำลังดำเนินการอยู่ เส้นทางบวกสู่ความสำเร็จของเราไปยังประเทศอื่นๆ เราไม่ได้หวังว่าประเทศเล็ก ๆ บางประเทศเขาจะซื้อ แต่ประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่ซื้อลิขสิทธิ์ ถ้าเขาขออะไร เราจะส่งไปให้เขา " วัธ จำเริญ เลขาธิการคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ กล่าว
ประเด็นการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดซีเกมส์ 2023 ในครั้งนี้ความเคลื่อนไหวในประเทศไทย น่าสนใจว่ากระแสที่โต้กลับก็คือ การไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทย จะต้องใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการนี้ โดยคาดว่าตัวเลขของค่าลิขสิทธิ์หรือค่าธรรมเนียม ซึ่งประเทศเจ้าภาพเรียกเก็บจากไทย สูงถึง 28 ล้านบาท มีการออกแคมเปญเชิญชวนให้เข้าชื่อ เพื่อสะท้อนไปยังภาครัฐ คือการกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานหลัก ในการกดดันไม่ให้ ไทยใช้จ่ายเงินลงทุนจำนวนดังกล่าว ซึ่งประเด็นของความรู้สึกปฏิเสธต่อการรับชม"ซีเกมส์ 2023" มาจากความไม่พอใจต่อวงเงินที่ภาครัฐ จะต้องใช้จ่ายเพื่อการนี้ โดยเห็นว่ากัมพูชา มุ่งเน้นที่จะหาผลประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพ
ณัฐวุฒิ เรืองเวส อดีตรองผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท. ) ปัจจุบันทำหน้าที่ นายกสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ "คมชัดลึก"ว่า เข้าใจถึงความรู้สึกของกระแสสังคมที่บอยคอย ต่อการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดซีเกมส์ จากประเทศกัมพูชา แต่โดยหลักการแล้ว บทบาทของกกท. คือการทำหน้าที่หน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมกีฬา
กรณีของการเจรจากับทางการกัมพูชา เห็นว่า กกท. ต้องต่อสู้อย่างถึงที่สุด ให้ได้ราคาที่เหมาะสม เพราะหากคำนึงถึงโครงสร้างราคาที่กัมพูชา กำหนดออกมาก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง ดังนั้นการเจรจาเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ จึงต้องดำเนินต่อไป ประเด็นที่เห็นว่าในไทยต้องมีการถ่ายทอดสดเพราะเป็นการส่งเสริมกีฬาในระดับสากล ในเมื่อประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ติดตามชมการแข่งขัน
การให้กำลังใจนักกีฬา อยากให้มองภารกิจนี้เป็นหลัก ส่วนกระแสการต่อต้านจากประชาชนก็เข้าใจได้ เนื่องจากมีหลายประเด็นที่กลายเป็นข้อกระทบกระทั่งกันระหว่างงสองฝ่าย แต่ก็ต้องแยกให้ออก กับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ประเด็นที่ไทยต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด ก็คือการได้ราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่ราคาตามที่เป็นข่าวในขณะนี้ ซึ่งถือว่าสูงเกินไป ณัฐวุฒิ ระบุ
กัมพูชา เจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 32 จัดการแข่งขัน 5-17 พ.ค. และกีฬาคนพิการอาเซียนพาราเกมส์ แข่งขัน 3-9 มิ.ย. ประกาศควาทสำเร็จโดย ระบุว่ามี 4 ชาติ ที่ตอบรับซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด "ซีเกมส์ 2023"