Pine Pacific สร้างชื่อ ทีมเรือไทย เข้าอันดับ 1 เรือใบนานาชาติ ถ้วยพระราชทาน
เรือใบนานาชาติ ชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ประจำปี 2566 ผลการแข่งขันวันจันทร์ที่ 4 ธ.ค. แข่งขันเรือใบใหญ่คีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ เรือ Pine Pacific ชนะเลิศในรุ่นพรีเมียร์ กัปตันเรือ เผยวันนี้งานเบา เพราะแข่งขันระยะสั้น ส่วนพรุ่งนี้ ของแข็งเพราะแข่งระยะไกล
การแข่งขันเรือใบนานาชาติ ชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ประจำปี 2566 วันจันทร์ที่ 4 ธ.ค.เป็นการแข่งขันเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์เป็นวันแรก ด้วยสภาพอากาศดี ลมแรงราว 8-16 นอต ทีมเรือไทย ทำผลงานโดดเด่นโดยเฉพาะในรุ่นพรีเมียร์ กัปตันอิทธินัย ยิ่งศิริ แชมป์เก่านำเรือ Pine Pacific เข้าเส้นชัยได้ทั้ง 2 เที่ยว คว้าอันดับ 1 ของการแข่งขันวันแรกได้สำเร็จ
อิทธินัย ยิ่งศิริ กัปตันเรือ Pine Pacific ทีมเรือไทยแชมป์เก่าในรุ่นพรีเมียร์ ซึ่งโชว์ท็อปฟอร์มขึ้นเป็นอันดับ 1 กล่าวว่า ทีมเตรียมตัวมาค่อนข้างดี และลูกเรือยังเล่นด้วยกันมาร่วม 10 ปี ถึงแม้จะมีเวลาซ้อมไม่มาก ก็ไม่มีปัญหาอะไร สนามแข่งในวันนี้ยังเป็นคอร์ส ระยะสั้นที่เอื้อเรือเล็ก ทำให้นำเรือเข้าเส้นชัยได้ในการแข่งทั้ง 2 เที่ยว แต่สนามพรุ่งนี้ ( อังคารที่ 5 ธ.ค. ) จะเป็นคอร์สระยะไกล ซึ่งอาจจะทำให้ทีม Shahtoosh ของปีเตอร์ เครเมอร์ส (อันดับ 2 ของตารางในวันนี้) ได้เปรียบมากกว่า
เควิน วิทคราฟต์ ประธานกรรมการจัดการแข่งขัน เรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า และกัปตันเรือ Vayu THA 72 ในรุ่น ไออาร์ซี 0 กล่าวว่า อากาศวันแรกนับว่าดี สำหรับเริ่มต้นการแข่ง ลมแรงพอสมควร 8-14 นอต พัดมาจากตะวันออกเฉียงเหนือตามปกติของฤดูนี้ ซึ่งหวังว่าจะได้ลมแบบนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ ทีมเรือทุกลำแข่งกันอย่างสนุกสนานมาก ถือเป็นสภาพอากาศที่ดีมากสำหรับเรือคีลโบ้ตทุกรุ่น ในการแข่งขันวันแรก เรือ Vayu THA 72 อยู่ที่อันดับ 3 ของตาราง โดนทีมเรือ Team Hollywood ของกัปตันเรย์ โรเบิร์ต แชมป์เก่า ชิงอันดับ 1 ของวันไปได้
ผลการแข่งขันวันที่ 1 ( จันทร์ที่ 4 ธ.ค. )
.
รายการเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35
.
รุ่นไออาร์ซี 0 – ทีมเรือ Team Hollywood โดยกัปตันเรย์มอนด์ โรเบิร์ต จากออสเตรเลีย
รุ่นพรีเมียร์ – ทีมเรือ Pine Pacific โดยกัปตันอิทธินัย ยิ่งศิริ จากประเทศไทย
รุ่นไออาร์ซี 1 – ทีมเรือ Witchcraft โดยกัปตันนิก เบิร์นส์ จากฮ่องกง
รุ่นแบร์โบ้ตชาร์เตอร์ – ทีมเรือ Dragonborn โดยกัปตันดีน เพ็ง จากจีน
รุ่นโมโนฮัลล์ครูซิ่ง – ทีมเรือ Isabella โดยกัปตันเจียนเหา หยาง จากจีน
รุ่นมัลติฮัลล์เรซิ่ง – ทีมเรือ Kata Rock Parabellum โดยกัปตันแดน ฟิด็อค จากออสเตรเลีย
รุ่นมัลติฮัลล์ครูซิ่ง – ทีมเรือ Team No Escape โดยกัปตันแฟรงค์ คาสเทลีน จากเนเธอแลนด์
ทีมเรือ Pine Pacific โดยกัปตันอิทธินัย ยิ่งศิริ จากประเทศไทย เข้าเป็นที่ 1 ในรุ่นพรีเมียร์ เรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า
.
การแข่งขันเรือใบเล็ก "อินเตอร์เนชันแนล ดิงกี้ คลาส" แข่งขันเป็นวันที่ 2 โดยนักกีฬาเยาวชนไทยทำผลงานดีต่อเนื่อง สามารถแข่งขันกันครบ 4 เที่ยวตามกำหนด และด้วยสภาพลมที่แตกต่างจากการแข่งขันวันแรก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผลผู้ชนะประจำวันในหลายรุ่น
ผลการแข่งขันวันที่ 2 "อินเตอร์เนชันแนล ดิงกี้ คลาส" คิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35
รุ่นออปติมิสต์รวม - คริษฐ์ พราหมณี จากไทย
รุ่นออปติมิสต์หญิง - ประภัสสร แก้วพรหม จากไทย
รุ่นออปติมิสต์ชาย - คริษฐ์ พราหมณี จากไทย
ไอแอลซีเอ 4 - นัณวธรณ์ ศุภอัมพลวิชญ์ จากไทย
โอเพ่นสกิฟฟ์ - อานันดิ ชานดาวาร์การ์ (Anandi Chandavarkar) จากอินเดีย
โมโนฮัลล์ ดิงกี้ แฮนดี้แคป - คลาวเดีย นาซารอฟ จากไทย
ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าประจำปี 2566 มีทีมเรือใบเดินทางมาร่วมการแข่งขันรวม 14 ชาติ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ เยอรมนี เบลเยียม เอสโตเนีย ฝรั่งเศส ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ โดยมีการแข่งขัน 7 รุ่น ได้แก่ ไออาร์ซี 0, พรีเมียร์, ไออาร์ซี 1, แบร์โบ้ตชาร์เตอร์, โมโนฮัลล์ครูซิ่ง, มัลติฮัลล์เรซิ่ง และมัลติฮัลล์ครูซิ่ง กำหนดจัดแข่งขันตั้งแต่วันที่ 4-9 ธันวาคม โดยในปีนี้มีทีมเรือไทยร่วมชิงชัย 3 รุ่น คือไออาร์ซี 0, พรีเมียร์ และแบร์โบ้ต ชาร์เตอร์