ข่าว

“โค้ชอ๊อต” ผู้อยู่เบื้องหลังตำนาน 7 เซียนพร้อมผลงานความสำเร็จอีกมากมาย

“โค้ชอ๊อต” ผู้อยู่เบื้องหลังตำนาน 7 เซียนพร้อมผลงานความสำเร็จอีกมากมาย

22 พ.ค. 2567

“โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ผู้พลิกประวัติศาสตร์วงการวอลเลย์บอลหญิงไทย สร้างตำนาน 7 เซียน พร้อมผลงานอีกมากมายนับไม่ถ้วน

ช็อค ! วงการวอลเลย์บอลไทยเมื่อ "โค้ชอ๊อต" เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ประธานหัวหน้าผู้ฝึกสอน ที่แฟน ๆ วอลเลย์บอลอยากให้กลับมาคุมทีมชาติอีกครั้ง ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ประกาศลากออก ขอรับผิดชอบในฐานะประธานเทคนิค ที่ดูแลทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาทีมชาติ รวมถึงเสนอรายชื่อผู้ฝึกสอนทุกชุด ด้วยการขอลาออกจากหน้าที่ประธานผู้ฝึกสอน เพื่อแสดงความรับผิดชอบในฐานะประธานเทคนิค

 

พร้อมขอให้ทีมงานได้ทำงานกันเต็มที่เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ให้ความช่วยเหลือนักกีฬาในการแข่งขันอีก 3 สนาม ช่วยกันสร้างความสุขให้กับแฟน ๆ ทุกคนต่อไป

ย้อนกลับไปในปี 2540 สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย กำลังมีแผนที่จะเฟ้นหานักกีฬาดาวรุ่งหน้าใหม่ เข้ามารับไม้ต่อแทนที่รุ่นพี่วอลเลย์บอลทีมชาติชุดใหญ่ในเวลานั้น เพราะหลายคนในทีมอายุเยอะเตรียมปลดระวางกันหลายคนแล้ว ทำให้สมาคมฯ ต้องรีบแก้ไขปัญหาด้วยการเตรียมพร้อมเฟ้นหาดาวรุ่งขึ้นมา เพื่อเป็นตัวเลือกใช้งานในศึกซีเกมส์ 2544 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และรายการอื่นๆ ในอนาคต

ซึ่งทาง “โค้ชอ๊อต” อดีตนักกีฬาวอลเลย์บอลชายทีมชาติไทยที่ รีไทร์ ไปแล้ว เข้ามารับหน้าที่ในการดูแลตามหาเหล่านักตบลูกยางดาวรุ่งในครั้งนี้ โดยโค้ชอ๊อต มีแนวคิดในการสร้างทีมแบบ “ดรีมทีม” เขาและทีมงานจะออกตระเวนหาเหล่านักตบดาวรุ่ง มากพรสวรรค์ทั่วทุกสารทิศในประเทศไทย ให้มารวมตัวฝึกซ้อม กินอยู่ด้วยกัน ที่ต้องทำแบบนี้ก็เป็นเพราะ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และปรับสร้างความเข้าใจกันในทีม หากใครที่พอดูมีแวว มีพรสวรรค์ ก็จะถูกผลักดันขึ้นไปสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ทันที จึงทำเกิดการรวมตัวของ 7 เซียน เริ่มต้นจาก 3 คนแรก "นา" วรรณา บัวแก้ว จากโรงเรียนสวนกุหลาบ สมุทรปราการ, "กิ๊ฟ" วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ จากโรงเรียนสุรนารีวิทยา และ "หน่อง" ปลื้มจิตร ถินขาว จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ก่อนที่ทั้ง 3 คน จะได้ลงแข่งในนามทีมชาติชุดเยาวชน ชุดแรกของโค้ชอ๊อต

 

เซียนคนที่ 4 คือ "แจ๊ค" อำพร หญ้าผา ดาวตบตัวเก่งจาก โรงเรียนสตรีนนทบุรี โชว์ฟอร์มอันร้อนแรงในการแข่งขันวอลเล่ย์บอลระดับมัธยม

 

เซียนคนที่ 5 เซ็ตดาวรุ่งฝีมือร้ายกาจจาก โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี  "ซาร่า" นุศรา ต้อมคำ มีดีกรีถึงทีมชาติชุดเยาวชนติดตัวมา คนที่ 6 "อร" อรอุมา สิทธิรักษ์ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี และ 7 เซียนคนสุดท้ายคือ "ปู" มลิกา กันทองโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี 

 

เรียกได้ว่าถือเป็นทีมวอลเลย์บอลหญิงที่ ”โค้ชอ๊อต“ ปลุกปั้นมาได้แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ”โค้ชอ๊อต“ และ 7 เซียนได้สร้างชื่อเสียงเป็นตัวแทนความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติมาโดยตลอด เป็นแรงบันดาลใจ เป็นฮีโร่ของใครต่อหลายคน อีกทั้งยังช่วยปลุกกระแสให้วอลเลย์บอลไทยกลับมาคักคัก

ผลงาน “โค้ชอ๊อต” ในฐานะครูผู้ฝึกสอน 

พ.ศ. 2540 ได้รับงานโค้ชเป็นครั้งแรก โดยคุมทีมยุวชนหญิง ซึ่งปีนั้นไทยได้เป็นเจ้าภาพ และคว้าอันดับที่ 5 มาครอง

 

พ.ศ. 2541 ได้ขึ้นมาเป็นผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติชุดใหญ่ และสร้างประวัติศาสตร์พาทีมเข้าไปเล่นรายการเวิลด์แชมป์เปี้ยนชิพ ที่ญี่ปุ่น และได้อันดับที่ 15

 

พ.ศ. 2543 สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติได้ให้ไทยเป็นทีมวอลเลย์บอลที่มีพัฒนาการยอดเยี่ยมเป็นอันดับที่ 2 ของโลก พาทีมหญิงชุดมหาวิทยาลัยโลก คว้าอันดับที่ 3 ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกที่จีน และพาทีมผ่านเข้าแข่งขัน รายการเวิลด์กรังปรี เป็น 1-8 ทีมได้สำเร็จ (ปีนั้น ใช้ระบบ 8 ทีม)

 

พ.ศ. 2552 พาทีมวอลเลย์บอลหญิงคว้าแชมป์ชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 15 โดยการโค่นจีน ซึ่งอยู่ในอันดับ 4 ของโลก ในขณะนั้นได้สำเร็จ

 

พ.ศ. 2554 พาทีมหญิงไทย คว้าอันดับ 6 เวิลด์กรังปรี ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และคว้าอันดับ 4 ในรายการชิงแชมป์เอเชีย

 

พ.ศ. 2555 พาทีมหญิงไทย คว้าอันดับ 4 เวิลด์กรังปรี ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และคว้าอันดับ 1 ในรายการชิงแชมป์เอเชียนคัพ

พ.ศ. 2556 พาทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย คว้าแชมป์วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2013 โดยการชนะทีมชาติญี่ปุ่นซึ่งเป็นทีมอันดับ 3 ของโลก และเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกครั้งที่ 30 ไป 3-0 เซต

 

สรุปรวมผลการแข่งขัน

รายการชิงแชมป์เอเชีย

ปี 2001 (พ.ศ. 2544) : อันดับ 3

ปี 2007 (พ.ศ. 2550) : อันดับ 3

ปี 2009 (พ.ศ. 2552) : แชมป์

ปี 2013 (พ.ศ. 2556) : แชมป์

 

รายการเอเชียนคัพ

ปี 2008 (พ.ศ. 2551) : อันดับ 3

ปี 2010 (พ.ศ. 2553) : รองแชมป์

ปี 2012 (พ.ศ. 2555) : แชมป์

 

รายการซีเกมส์

ปี 2001 (พ.ศ. 2544) : แชมป์

ปี 2003 (พ.ศ. 2546) : แชมป์

ปี 2005 (พ.ศ. 2548) : แชมป์

ปี 2007 (พ.ศ. 2550) : แชมป์

ปี 2009 (พ.ศ. 2552) : แชมป์

ปี 2011 (พ.ศ. 2554) : แชมป์

 

รายการเวิลด์ แกรนด์ แชมเปียนส์ คัพ

ปี 2009 (พ.ศ. 2552) : อันดับ 6