วันนี้ในอดีต... 6 พ.ค. วันเกิด‘ซิกมันด์ ฟรอยด์’บิดาจิตวิทยา
วันนี้ในอดีต เป็นวันที่ 'ซิกมันด์ ฟรอยด์' บิดาแห่งจิตวิทยา ลืมตาดูโลก ประวัติชีวิตของเขา น่าสนใจอย่างมาก
วันนี้ในอดีต... ย้อนไปเมื่อ 161 ปีที่แล้ว เมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2399 ซิกมันด์ ฟรอยด์(Sigmund Freud) แพทย์และนักจิตวิทยาชาวออสเตรียเชื้อสายยิว ซึ่งเป็นบิดาแห่ง ‘ทฤษฎีจิตวิเคราะห์’(Psychoanalysis) ลืมตาดูโลก
เขาเกิดในครอบครัวชาวยิวซึ่งเป็นพ่อค้าขายผ้าขนสัตว์ ที่เมือง ฟรายเบิร์ก (Pribor)แคว้นโมราเวียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออสเตรเลีย-ฮังการีในสมัยนั้น ปัจจุบันก็คือประเทศเชค
เขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก จึงทำให้เขาฉลาดและสอบได้ที่ 1 ทุกครั้งและได้เข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองเวียนนา จบแล้วออกมาเปิดคลินิกรักษาโรคประสาทและสมอง
จากนั้นก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับ ‘จิตไร้สำนึก’ แล้วนำเสนอทฤษฎีจิตวิเคราะห์
‘ฟรอยด์’ เขียนบทความและหนังสือหลายเล่ม พ.ศ.2473 เขาได้รับรางวัลเกอเธ่ (Goethe Prize) แต่ 3 ปีต่อมา นาซีเยอรมันเริ่มเรืองอำนาจ หนังสือของฟรอยด์ถูกเผา เริ่มกวาดล้างชาวยิวและบุกยึดออสเตรียในเดือนมีนาคม พ.ศ.2481 ‘ฟรอยด์’และครอบครัวจึงต้องอพยพไปอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
‘ฟรอยด์’เชื่อว่าสาเหตุหลักของพฤติกรรมมนุษย์มาจากแรงขับทางเพศ (Sex drive) และสัญชาติญาณในการอยู่รอดหรือจิตไร้สำนึก (Unconscious) เขาจำแนกบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่อิด(Id) คือจิตไร้สำนึก, อีโก(Ego) จิตสำนึกหรือเหตุผล และซูเปอร์อีโก(Super Ego) คือส่วนที่เป็นมโนธรรมสำนึก
นอกจากนี้เขายังแบ่งขั้นตอนพัฒนาการบุคลิกภาพของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น คือขั้นปาก (oral stage) ขั้นทวารหนัก (anal stage) ขั้นอวัยวะเพศ (phallic or oedipal stage) ขั้นแฝง (latency stage) และขั้นสนใจเพศตรงข้าม (genital stage)
ทฤษฎีของเขาแม้จะไม่ได้รับการยอมรับในระยะแรก แต่ต่อมาเริ่มมีการศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้และอธิบายทฤษฎีทางสังคมได้ ความคิดและผลงานของเขามีอิทธิพลอย่างมาก ทั้งต่องานวรรณกรรม วรรณคดี ปรัชญาและจิตวิทยา นับว่าเขาเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20
‘ฟรอยด์’นับเป็นยอดอัจฉริยะและได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ บิดาแห่งจิตวิทยา’ เขาเป็นเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาในเรื่องนี้มากที่สุดคนหนึ่งของโลก
แต่ชีวิตของเขาก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย อดทนต่อความความโดดเดี่ยว และแม้แต่การไร้ซึ่งมิตรภาพที่แลกมาด้วยความสำเร็จในหน้าที่การงานของเขา
‘ฟรอยด์’เป็นคนที่สูบซิการ์จัดมาก เขาจึงเป็นโรคมะเร็งและต้องผ่าตัดกว่า 30 ครั้ง และหลังจากอ่านนิยายเรื่อง La Peau de chagrin ของ บัลซัค (Balzac) จบ เขาก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2482 ในวัย 83 ปี