วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 1 ต.ค.55“ศิริราช”เปิดหุ่นยนต์ผ่าตัดตัวที่2"

วันนี้ในอดีต 1 ต.ค.55“ศิริราช”เปิดหุ่นยนต์ผ่าตัดตัวที่2"

01 ต.ค. 2560

วันนี้ในอดีต 1 ต.ค 2555 “ศิริราช”เปิดตัวหุ่นยนต์ผ่าตัดตัวที่ 2 มูลค่า 120 ล้านบาท หลังใช้หุ่นยนต์ตัวแรกช่วยรักษาผู้ป่วยสำเร็จกว่า 1,000 ราย

 

         วันนี้ในอดีต เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา วงการแพทย์ไทยรุกหน้าเมื่อ "ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะนั้นเป็นประธานแถลงถึงผลสำเร็จ“ศิริราชเปิดตัวหุ่นยนต์ผ่าตัดตัวที่ 2 หลังใช้หุ่นยนต์ตัวแรกสำเร็จกว่า 1,000 ราย”งานนี้มีอาจารย์หมอระดับนักวิจัยร่วมแถลงด้วยกันหลายคน อาทิ" ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช" รองหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์"รศ.นพ.ไชยยงค์ นวลยง" หัวหน้าสาขาวิชาระบบทางเดินปัสสาวะ “ผศ.นพ.ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์” หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป และ “รศ.นพ.กรกฎ ศิริมัย” รองหัวหน้าสาขาวิชาการใช้กล้องเพื่อส่องตรวจและรักษาทางนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

          ทั้งนี้ เมื่อ10 ปีก่อน“คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล”ได้นำหุ่นยนต์ผ่าตัดมาผ่าตัดให้คนไข้กว่า 1,000 รายสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นจึงได้จัดซื้อหุ่นยนต์ผ่าตัดตัวที่ 2 ราคา 120 ล้านบาท มาผ่าตัดให้กับคนไข้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้การผ่าตัดคนไข้นอกจากใช้หุ่นยนต์แล้วยังมีการผ่าตัดด้วยวิธีเปิดแผล และส่องกล้อง โดยจะพิจารณาว่าคนไข้แต่ละคนเหมาะสมใช้วิธีการใด

         ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ตัวแรกกว่า 1,000 ราย ประกอบด้วยการผ่าตัดศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก 860 ราย มะเร็งไต 35 ราย มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 5 ราย ศัลยกรรมทั่วไป ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน หลอดอาหารตีบ โรคกรดไหลย้อน 106 ราย รวมถึงโรคทางด้านนรีเวช ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก 10 ราย ในปีนี้ภาควิชา ศัลยศาสตร์จึงได้นำหุ่นยนต์ตัวที่2เข้ามาใช้รักษาผู้ป่วยทีนับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้ยังใช้ในการศึกษาฝึกสอนแพทย์ให้เกิดทักษะการใช้งานยิ่งขึ้นซึ่งหวังว่าเป้าหมายต่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในการให้บริการทางการแพทย์ก็คือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะเป็นศูนย์กลางการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดในภูมิภาคนี้

       สำหรับหุ่นยนต์ตัวที่ 2 นี้ มีความพิเศษอยู่ที่ ชุดควบคุมการผ่าตัดภายนอกตัวหุ่นยนต์ มีอยู่ 2 ชุด ต่างจากตัวแรกที่มีอยู่ ชุดเดียว ส่วนตัวหุ่นยนต์ ยังเหมือนตัวแรกคือ มีแขน 4 แขน แต่ละแขนมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 0.5 - 0.8 เซนติเมตร แขนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นกล้องคุณภาพสูง ช่วยให้มองเห็นภาพเป็น 3 มิติ มีเทคโนโลยีลดการสั่นไหวของภาพ และมีกำลังขยายถึง 10 เท่า ซึ่งศัลยแพทย์พร้อมผู้ช่วยสามารถทำผ่าตัดไปพร้อมกัน

        โดยจะมีคันบังคับ ที่ชุดควบคุม มองผ่านภาพ 3 มิติ และถ่ายทอดสัญญาณไปยังแขนหุ่นยนต์ 3 แขน ที่มีขนาดเล็กยาวผ่านรูช่องท้อง และทำการผ่าตัดคล้ายมือคน โดยที่ชุดควบคุมชุดแรก อาจบังคับเพียงแขนเดียว ส่วนอีก 2 แขน เป็นหน้าที่ของชุด ควบคุมชุดที่ 2 ซึ่งทั้ง 2 ชุดจะทำงานสอดประสานกันอย่างกลมกลืนตามคำสั่งกรีด ตัด เย็บเนื้อเยื่อ และผูกปม โดยที่การเคลื่อนไหวของมือสามารถหมุนได้รอบทิศทาง แม้กระทั่งเข้าไปซอกซอนในที่แคบๆ หรือช่องผ่าตัดเล็กๆ ทำให้ การผ่าตัดมีความถูกต้อง แม่นยำสูงยิ่งขึ้น เจ็บน้อย ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว และยังลดภาวะแทรกซ้อนด้วย

        โดยเฉพาะการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด ร่วมกับความชำนาญของศัลยแพทย์ จะช่วยเพิ่มขีดความ สามารถในการตัด เลาะ แยกเก็บเส้นประสาทที่ควบคุมการกลั้นปัสสาวะและการแข็งตัวขององคชาต โดยที่ผลของ การควบคุมมะเร็งยังดีอยู่

         มีการคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี หรือในปี 2560 หุ่นตัวยนต์ตัวที่ 2 จะผ่าตัดคนไข้ได้ไม่น้อยกว่าตัวแรกที่ผ่าตัดคนไข้กว่า 1,000 รายได้ ส่วนเรื่องราคานั้นต้องมีความค่าเสื่อมของแขนกลที่ใช้ได้แค่ 10 ครั้ง และค่าบำรุงรักษาปีละหลาย 10 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายผ่าตัดปกติราคาประมาณ 1 แสนบาท แต่ถ้าผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ราคาประมาณ 3-3.5 แสนบาท โดยเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศแล้วยังถูกกว่า 

         วันนี้ในอดีต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ในประเทศไทยมีหุ่นยนต์ผ่าตัด ทั้งหมด 6 ตัว เฉพาะอยู่ที่รพ.ศิริราช 2 ตัว