ช็อค! เด็กไทย อ่านไม่ออก 411,346 คน
เดอะอ๋อย“จาตุรนต์ ฉายแสง”ณ วังจันทรเกษม แทบหงายเหงิบตกเก้าอี้ เมื่อ“1 ใน 5 เสือศธ.” แจ้งข่าวร้ายว่าเด็กไทยยุคศิวิไลซ์แต่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีเพียบ
ไม่ให้ตกใจได้ไง ในเมื่อยามนั้น“ไทยแลนด์”ยุคผู้นำชื่อ “ปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”หมายมั่นปั่นมือเอาไว้ว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายต้องก้าวสู่การเป็น“ศูนย์กลางการศึกษา” หรือ“ฮับการศึกษา”ในภูมิภาคอาเซียนให้ได้ แต่ไฉนยังมีเด็กไทยเกือบครึ่งล้านคน อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
ถ้าเป็นเด็ก ชั้นอนุบาล หรือชั้นประถมศึกษาตอนต้นก็พอรับได้ แต่นี่กินรวบ ทั้งเด็กประถมศึกษาและเด็กมัธยมศึกษา เพราะมีเด็กวัยคอซองระดับชั้นม.3 ก็อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ รวมอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย
“เดอะอ๋อย”จาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2556 ออกมาเปิดเผย เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมผู้บริหารระดับสูงองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ“5 เสือศธ.”
เป็นข้อมูลจาก “1 ใน 5 เสือ ศธ.” คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานผลการดำเนินโครงการเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้
ว่ากันว่า โครงการดังกล่าว สพฐ. ได้ทำเครื่องมือทดสอบ เพื่อ“ตรวจสอบ”และ“คัดกรอง” หรือ“สแกน"ความสามารถการอ่านออกเสียง และความเข้าใจการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่3(ป.3) และ ป.6 ทั่วประเทศจำนวน 1.6 ล้านคน ในช่วงเดือนกันยายน 2556
สรุปปัญหาในภาพรวมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ นักเรียนอ่านไม่ได้ จำนวน 45,929 คน เป็นนักเรียนชั้นม.3 จำนวน 33,084 คน นักเรียนชั่นป.6 จำนวน 12,845 คน นักเรียนที่อ่านได้และเข้าใจเรื่องบ้าง อยู่ในระดับปรับปรุง จำนวน 365,420 คน เป็นนักเรียนชั้นม.3 จำนวน 184,598 คน นักเรียนชั้นป.6 จำนวน 180,822 คน
ที่เหลือเป็นนักเรียนกลุ่มที่อ่านได้และเข้าใจเรื่องดี เมื่อรวมทั้งหมดจะมีเด็กที่อ่านไม่ได้ อ่านได้และเข้าเรื่องบ้าง ควรปรับปรุง มีจำนวนมากถึง “411,346 คน” อย่างไรก็ตามสำหรับตัวเลขดังกล่าวถือว่าเพิ่มขึ้นกว่าผลสำรวจที่ผ่านมา ซึ่งมีเด็กที่อ่านไม่ได้, อ่านได้ แต่ควรปรับปรุง, อ่านได้แต่ไม่เข้าใจ และอ่านได้ เข้าใจบ้าง จำนวน 200,590 คน
ที่น่าตกใจไปกว่านั้น สาเหตุที่ทำให้นักเรียนมีปัญหาเรื่องการอ่าน มาจากครูไม่มีเวลา เพราะต้องทำงานอื่น ๆ ครูสอนไม่ตรงวิชาเอก และไม่ให้ความสำคัญกับการสะกดคำ ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่สำคัญ
“ผมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยไปคิดต่อเรื่องการดูแลการเรียนการสอนภาษาไทยทั้งระบบในระดับที่สูงกว่านี้ โดยจะต้องมีการดูแลความรู้ภาษาไทยที่กว้างทั้ง ทักษะการฟัง ทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน และทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เนื่องจากได้ยินเสียงบ่นมาจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่าเด็กสอบเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มีปัญหาเรื่องการอ่านและสรุปความไม่ได้ เขียนเรียงความ เขียนอธิบายไม่ได้ สะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาของเรา ไปเน้นการสอบแบบไม่ต้องอธิบาย ไม่มีข้อสอบแบบอัตนัย
ดั้งนั้นจึงขอให้สพฐ. ไปดูให้กว้างขึ้น รวมถึงจะต้องเร่งพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดผลที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน ทั้งนี้ขอให้ประสานกับทางโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม และต่อไปจะขอความร่วมมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำแบบทดสอบภาษาไทยสำหรับคนไทยด้วย”นายจาตุรนต์กล่าว
ส่วนวิธีการแก้ปัญหาจะต้องเน้นการเรียนการสอนที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงจะต้องปรับปรุงแบบเรียน หนังสือที่ช่วยในการอ่าน อาทิ การจดจำรูปสระ ใช้เพลงหรือบทร้อง นิทาน แบบฝึกทักษะ หนังสือแนวสอนซ่อมเสริม จัดพิมพ์แบบเรียนใหม่ด้วย รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อให้ได้วิธีการเรียนการสอนที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนจะต้องเพิ่มกิจกรรมเพื่อเสริมทักษะในการเรียนการสอนเรื่องดังกล่าวด้วย
จากวันนี้ในอดีต เมื่อ 4 ปี หรือ 24 ธ.ค.2556 ถึงวันนี้(24 ธ.ค.2560)ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และอ่านน้อย ถือเป็นวิกฤตใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข ก่อนที่ศักยภาพของคนไทยจะด้อยลง จนไปไม่ถึง“ไทยแลนด์ 4.0” ที่สำคัญการเพิ่มปริมาณการอ่าน หรือคนอ่านให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ต้องคำนึงถึง
แต่การอ่านอย่างมีคุณภาพ ก็ต้องพัฒนาควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการอ่านไม่ละเอียด และจับใจความสำคัญไม่ได้ จนกลายเป็น“ประเด็นดรามา”กันอยู่เนืองๆ บนโลกโซเชียล