16 ก.พ.2520 พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สิ้นชีพเพื่อชาติ!
เมื่อเครื่องบินสมเด็จพระนางเจ้าฯ "ถูกลอบยิง"!! เมืองไทยก็สิ้นเจ้านายพระราชวงศ์จักรีที่ทรงรักคนไทย และเมืองไทยยิ่งกว่าพระองค์เองไปอีกองค์หนึ่ง !!
น้อยคนในยุคหนึ่งจะลืมเลือนข่าวร้ายที่สุดในชีวิตข่าวหนึ่ง นั่นคือ การสิ้นชีพิตักษัยของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต จากถูกลอบยิงขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งสำคัญบนเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง โดยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
วันนี้ในอดีต ขอร่วมรำลึกถึงเรื่องราวของพระองค์ ที่เชื่อว่า หลายคนที่ได้อ่านแล้วอาจถึงกับกลั้นน้ำตาแห่งความเศร้าโศกไว้ไม่อยู่
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต มีพระนามเดิมเมื่อแรกประสูติว่า หม่อมเจ้าวิภาวดี รัชนี เป็นพระธิดาใน พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ประสูติแต่ หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี (พระนามเดิม: หม่อมเจ้าพิมลพรรณ วรวรรณ) มีพระอนุชาร่วมพระบิดามารดาเดียวกันคือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เสกสมรสกับ หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระโอรสใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2489 โดยทรงเป็นคู่สมรสคู่เดียวที่ได้รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
โดยทรงมีธิดาสองท่าน คือ หม่อมราชวงศ์วิภานันท์ รังสิต และ หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต
ในวัยเยาว์ พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต ทรงเริ่มต้นที่โรงเรียนผดุงดรุณี จากนั้นปีเดียวทรงย้ายมาเข้าที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย แต่ไม่ถึงปีก็เสด็จไปศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 มหาวิทยาลัย น.ม.ส.
จากซ้าย, หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต, หม่อมราชวงศ์หญิงปรียนันทา รังสิต, หม่อมราชวงศ์หญิงวิภานันท์ รังสิต และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต (จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย)
โดยการเรียนในสมัยนั้น ผู้สอนเป็นแม่ชีชาวอเมริกันและยุโรป กวดขันเรื่องภาษาแก่เด็กนักเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง ตำราต่างล้วนเป็นภาษาอังกฤษ แม้แต่ตำราคณิตศาสตร์ก็เรียนเป็นภาษาอังกฤษล้วน เด็กนักเรียนจึงอ่านเขียนและพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง
อย่างไรก็ดี ในทางหนึ่ง หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต ยังมีความสามารถเป็นที่ยอมรับในด้นวรรณกรรม โดย ทรงมีผลงานนวนิยายมากมาย ด้วยพระนามแฝง ว.ณ ประมวญมารค
ซึ่งท่านได้ทรงอธิบายพระนามแฝงว่า ตัว ว. คืออักษรย่อตัวแรกของชื่อคือวิภาวดี, ตัว ณ (ณะ) แปลว่า แห่ง, คำว่า ประมวญ คือ ชื่อถนนที่บ้านของท่าน (วังประมวญ) ตั้งอยู่, คำว่า มารค หรือ มรคา คือ ถนนในภาษาแขก ดังนั้น ว.ณ ประมวญมารค ก็คือ ว.แห่งถนนประมวญ นั่นเอง
ส่วนหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี พระอนุชาของพระองค์ ทรงใช้นามปากกาว่า ภ.ณ ประมวญมารค ด้วยเหตุผลเดียวกัน
ทั้งนี้ อาจเพราะสายเลือดแห่งกวี เพราะหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต ได้เคยเป็นเลขานุการของพระบิดาตอนพระเนตรเป็นต้อ ก็ทรงบอกให้เขียนหน้าห้าไปลงหนังสือ “ประมวญวัน” ทุกวัน เรียกว่าการทรงได้ใกล้ชิดกับเสด็จพ่อ หรือ พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ผู้ทรงเป็นกวีเอก ทำให้พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต สนพระทัยที่จะนิพนธ์ขึ้นเองบ้าง เมื่อพระชันษาเพียง 14 ปีเท่านั้น
พระนิพนธ์เรื่องแรก ไม่ใช่ “ปริศนา” แต่เป็นเรื่องแปล ชื่อ “เด็กจอมแก่น” ทรงแปลจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด William ของ Richmal Crompton ซึ่งเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของอังกฤษ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
เรื่องนี้เมื่อลงพิมพ์ ใน “ประมวญสาร” เป็นเรื่องที่ขายดีมาก นักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนที่อยู่ใกล้โรงพิมพ์ ได้เข้ามาซื้อจนเกลี้ยงโรงพิมพ์กลายเป็นเรื่องขายดี เพราะเด็กนักเรียนชอบอ่าน
ข้อมูลระบุว่า พะองค์ทรงรำลึกว่า “การที่ข้าพเจ้ากลายเป็นนักเขียนขึ้นมาตั้งแต่อายุ 14 ปีนั้น ก็เพราะข้าพเจ้ามีพ่อแม่ที่เข้มงวด อยากให้ข้าพเจ้ารู้ค่าของเงิน จึงไม่ได้ตามใจข้าพเจ้าให้เงินทองใช้จนเหลือเฟือ แต่สนับสนุนข้าพเจ้าในทางที่ควร คือสอนให้มีมานะ ให้รู้จักใช้หัวคิดที่จะทำโน่นทำนี่เพื่อถึงจุดหมายในความต้องการของตน... ถ้าพ่อแม่ของข้าพเจ้าไม่ฉลาด เห็นการณ์ไกลและสนับสนุนข้าพเจ้าในทางที่ถูกที่ควรแล้ว ว.ณ ประมวญมารค ก็คงจะไม่มีกำเนิดขึ้นมาในโลก คงจะดำดินอยู่ตลอดชีวิต ไม่มีผลงานออกมาให้ใครได้อ่านสักชิ้นเดียวเป็นแน่”
ผลงานที่มีชื่อเสียง เช่น ปริศนา, เจ้าสาวของอานนท์, รัตนาวดี, นิกกับพิม, คลั่งเพราะรัก, ฤทธิ์ราชินีสาว, พระราชินีนาถวิกตอเรีย, เรื่องลึกลับ, เด็กจอมแก่, ตามเสด็จปากีสถาน, ตามเสด็จประพาสอิหร่าน
พระกรณียกิจที่สำคัญของ หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต คือการได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยเสด็จเยื่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ พ.ศ. 2500
และพระกรณียกิจที่เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยม ทหาร ตำรวจ พลเรือน ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา
แต่แล้ว วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ขณะเสด็จไปรับตำรวจตระเวนชายแดนที่บาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิด ที่ ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงมาที่เฮลิคอปเตอร์ที่ประทับหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ทรงถูกยิงถึงแก่พระชนม์!!
ข้อมูลระบุตรงกันว่า ก่อนการสิ้นพระชนม์ พระองค์ยังมีพระสติสัมปชัญญะดี ทรงเป็นห่วงตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ตลอด
โดยมีรับสั่งว่า “ตชด.เป็นอย่างไรบ้าง เอาออกมาได้หรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาล อย่าให้พวกมันรู้ว่าฉันถูกยิง มันจะเหิมเกริม”
และ “ฉันไม่เป็นไรแล้ว ตชด.มาหรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาลด่วน”
ผู้เห็นเหตุการณ์ยังเล่าอีกว่า พระองค์ตรัสขอให้พระมหาวีระ และครูบาธรรมชัยกราบถวายบังคมลาพระเจ้าอยู่หัวแทน ทรง “ขอนิพพาน” และตรัสเป็นประโยคสุดท้ายว่า “ทรงเห็นนิพพานแล้ว พระนิพพานที่พระองค์เห็นนั้น สวยงดงาม” และ “แจ่มใสเหลือเกิน”
ต่อมา วันที่ 4 เมษายน 2520 มีพระบรมราชโองการสถาปนา หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” และได้นำพระนาม “วิภาวดีรังสิต” มาใช้เป็นชื่อถนนตามพระนามดังกล่าว (เดิมชื่อ: ถนนซูเปอร์ไฮเวย์)
นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นที่รักยิ่งของชาวอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานี เนื่องด้วยพระองค์เป็นผู้นำความเจริญต่างๆ ไปสู่พื้นที่จนได้รับฉายาว่า “เจ้าแม่พระแสง” และพระองค์ยังได้ประทานชื่อตำบลบางสวรรค์ ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอพระแสง
นับว่า ทรงปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ไม่หวาดเกรงความยากลำบาก แม้จะต้องสิ้นลมหายใจเพื่อชาติก็ตาม!!
////////////////
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก วิกิพีเดีย