วันนี้ในอดีต

2 ปี 9 เดือน 2 วัน ทุกๆ นาที ทุกๆ วันอยู่บนความภูมิใจ

2 ปี 9 เดือน 2 วัน ทุกๆ นาที ทุกๆ วันอยู่บนความภูมิใจ

07 พ.ค. 2561

ในท่ามกลางกระแสนายกฯ คนนอก ดูดเปลี่ยนชีพ นายกฯ แบบพิเศษ!! เมืองไทยเราเคยมีนายกฯ จากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงจากประชาชนจริงๆ ตัวเป็นๆ กาเอง เลือกเองมาแล้ว!!

                ไม่ใช่ตัวเลขใบ้หวย แต่เป็นวันชื่นคืนสุขบ้าง ทุกข์บ้างของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการนั่งอยู่บนเกาอี้ของนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย จำนวน 2 ปี 9 เดือน 2 วัน

                ทั้งนี้ หลังจากที่เธอได้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทย เพื่อลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยได้ผู้แทนราษฎร 265 ที่นั่งเป็นพรรคเดียวที่ครองเสียงข้างมากในสภา

                จากนั้นยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบต่อจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

                นั่นจึงเป็นที่มาของตัวเลข 2/ 9 /2 ตามที่เกริ่นไปข้างต้น

 

                2 ปี 9 เดือน 2 วัน ทุกๆ นาที ทุกๆ วันอยู่บนความภูมิใจ

              

                ถามว่าทำไมต้องกล่าวถึงตัวเลขนี้ นั่นก็เพราะวันนี้เมื่อ 4 ปีก่อน ก็คือวันที่ครบกำหนดตามนั้นพอดี โดย วันที่ 7 พ.ค. 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงการณ์ผ่าน NBT ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “สิ้นสภาพ” จากนายกรัฐมนตรี กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.

                โดยนางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวว่า

                “ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน และทำงานมา ดำเนินการด้วยความตั้งใจ ทุ่มเททำงานให้พี่น้องประชาชน และได้ยึดหลักบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้งไม่ได้ทุจริต ไม่เคยทำเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง ตามที่ได้กล่าวหาแต่อย่างใด และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทุจริตตลอดมา”

                “ทั้งนี้ ขอขอบคุณพี่น้องข้าราชการ ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลนี้ ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจ ดิฉัน และรัฐมนตรี ร่วมถึงให้กำลังใจตลอดมา ขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์”

 

2 ปี 9 เดือน 2 วัน ทุกๆ นาที ทุกๆ วันอยู่บนความภูมิใจ

                อดีตนายกฯ กล่าวด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณพี่น้องข้าราชการที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญขอบคุณประชาชนที่ให้ความไว้ใจตนและครม.ได้รับใช้ประชาชนตลอดมาและกำลังใจที่ให้ตลอดการทำงานไม่ว่าช่วงยากลำบากเพียงใดช่วงที่เดือดร้อนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมหรือเหตุการณ์ทางการเมืองก็ได้รับกำลังใจเสมอมา เป็นสิ่งที่ทำให้ตนมีกำลังใจในการทำงานและทำงานด้วยความทุ่มเท

                "ทุกครั้งที่ทำงานเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน 2 วัน ทุกๆ นาที ทุกๆ วันอยู่บนความภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนและก้าวเข้าสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีมาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งตนภูมิใจที่ได้ทำงานในหน้าที่นี้ด้วยความตั้งใจและทุ่มเท ต่อไปนี้ไม่ว่าสถานะใดตนขอเดินตามเส้นทางประชาธิปไตยยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม สุดท้ายนี้ไม่ว่าอยู่ตำแหน่งไหน ขอยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนคนไทย ตลอดไป"

                หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า วางอนาคตทางการเมืองและคิดว่าจะเล่นการเมืองอีกหรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ยิ้มแล้วกล่าวว่า วันนี้เร็วไปที่จะตอบคำถามนี้ เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

                เมื่อถามต่อว่า นายกฯ คิดว่าได้รับความยุติธรรมหรือไม่ นาวสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ขอให้ความเห็นวันนี้เพราะต้องรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการก่อน วันนี้ไม่อยู่ในวิสัยที่จะวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่าทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การทำงานยึดหลักระบบคุณธรรมจริยธรรมมาตลอด

                ผู้สื่อข่าวถามว่า ตั้งแต่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเสียใจเรื่องไหนมากที่สุด นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เสียใจที่ไม่มีโอกาสได้รับใช้พี่น้องประชาชนหลังจากนี้ เชื่อมั่นว่า ไม่ว่าสถานะไหนเราก็เคียงข้างประชาชนและยืนยันจะรับใช้ประชาชนไม่ว่าสถานะไหนก็ตาม ดิฉันเป็นเด็กต่างจังหวัดมีความผูกพันกับประชาชนและที่สำคัญเป็นคนไทยด้วยกันไม่ว่าสถานะไหนก็ทำงานช่วยเหลือประเทศชาติได้

 

2 ปี 9 เดือน 2 วัน ทุกๆ นาที ทุกๆ วันอยู่บนความภูมิใจ

                ต่อข้อถามที่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนในการตัดสินใจทางการเมือง นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวย้ำว่า เร็วเกินไปที่จะตอบคำถามนี้

                สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากการแถลงข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ออกไปพบเครือข่ายสตรีภาคอีสานกว่า 400 คน ที่มารอให้กำลังใจพร้อมมอบดอกกุหลาบโดยตัวแทนสตรีภาคอีสานกล่าวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า

                "วันนี้ไม่เป็นไร ขอให้สู้ๆ พวกเราพร้อมเลือกผู้หญิงคนนี้เป็นนายกฯ อีก บอกมาเลยว่าเลือกตั้งวันไหนจะไปเลือกแต่วันนี้ขอให้เข้มแข็งไว้ เราพร้อมจะอยู่ข้างนายกฯ เอง" หลังจากนั้นชาวบ้านก็ได้เข้าสวมกอด น.ส.ยิ่งลักษณ์ บางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไม่ไหวร้องไห้พร้อมตะโกนว่า "ยิ่งลักษณ์สู้ๆ"

                 อย่างไรก็ดี สำหรับการพ้นจากเก้าอี้รักษาการนายกฯ นั้นก็เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ

                โดยครั้งนั้นนอกจาก ปู ยิ่งลักษณ์ ที่จะต้องพ้นเก้าอี้รักษาการนายกฯ แล้ว ยังรวมถึง 9 รัฐมนตรี ที่ร่วมลงมติเห็นชอบให้ย้ายนาย ถวิล เปลี่ยนศรี อีกด้วย!

                สำหรับกรณีที่ศาลได้มีการวินัจฉัยเรื่องนี้ ก็สืบเนื่องจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้น  ได้ร้องขอให้ศาลพิจารณาว่า สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

2 ปี 9 เดือน 2 วัน ทุกๆ นาที ทุกๆ วันอยู่บนความภูมิใจ

                และศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วเห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้าย นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.  ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเร่งรีบอย่างผิดสังเกต ซึ่งไม่เป็นไปตามการปฏิบัติราชการปกติ  ถือเป็นการกระทำที่รวบรัด ปราศจากเหตุผลอันสมควรที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว

                ด้วยเหตุนี้ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการที่ย้าย นายถวิล เลขาธิการ สมช. ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ คือความประสงค์ให้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ว่างลง เพื่อโอนย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แทน อันจะทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง เพื่อย้าย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ในขณะนั้น ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการ และเป็นเครือญาติของนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน

 

2 ปี 9 เดือน 2 วัน ทุกๆ นาที ทุกๆ วันอยู่บนความภูมิใจ

ถวิล เปลี่ยนศรี

              ดังนั้น การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตัวเอง  มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รวมถึงรัฐมนตรีในขณะนั้นจำนวน 9คนที่ร่วมมีมติดังกล่าวก็ให้พ้นตำแหน่ง ถือว่ามีส่วนร่วมในการก้าวก่ายแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการด้วย

                ทั้งนี้สำหรับสาเหตุที่  น.ส.ยิ่งลักษณ์  มีสถานะเป็นเพียง ‘รักษาการนายกฯ’ ก็เพราะว่าก่อนหน้านั้น  น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากการที่ต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก จึงได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธ.ค.2556 นั่นเอง

             อนึ่ง ความสำคัญของวันนี้ ยังหมายถึงว่าเป็น วันสิ้นสุดรัฐบาล ”ยิ่งลักษณ์ “ครบรอบ 4 ปี  อีกด้วย!

             ทั้งนี้ล่าสุด 7 พ.ค.2561 ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ 4 ปีที่แล้ว ในวันที่ 7 พ.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรีคนที่ 28  ต้องพ้นจากเก้าอี้รักษาการนายกฯ พร้อมกับ 9 รัฐมนตรี  ตามคำฟ้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้น  สร้างผลกระทบต่อสถานภาพของรัฐบาล มีผลให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสภาพ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เกิดช่วงสูญญากาศอำนาจการปกครองประเทศ จนทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้าควบคุมอำนาจฯในวันที่ 22 พ.ค.2557

             และเป็นมูลเหตุให้วันต่อมาในวันที่ 8 พ.ค. 2557 อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษในขณะนั้น ได้เร่งรีบมีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ทั้งหมด 51 คน ซึ่งมีนายไพบูลย์อยู่หนึ่งในนั้น ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ทั้งที่ใช้เวลาเพียง 6 วันเท่านั้น ในการพิจารณาสำนวนคดีจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จำนวน 217 แฟ้ม ประกอบด้วยเอกสารจำนวน 57,514 แผ่น
             นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ตนจึงได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีอาญา อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ผู้มีคำสั่งฟ้องคดีการชุมนุม กปปส.เมื่อปี 2557 เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 โดยกล่าวหาว่าอดีตอธิบดีอัยการฯ ได้สั่งคดีอย่างเร่งรีบรวบรัดผิดปกติ ไม่เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคดีโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
              ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่ประชาชน ให้เป็นบรรทัดฐาน ในการสั่งคดีของอัยการ จะต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมต่อประชาชน  จึงนำคดีมาฟ้องอดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ.