วันนี้ในอดีต

สิ้น "นักรบแห่งราชนาวี" วีรกรรมดอนแตง กู้เรือ ชิงศพ!

สิ้น "นักรบแห่งราชนาวี" วีรกรรมดอนแตง กู้เรือ ชิงศพ!

23 พ.ย. 2561

ถึงทุกวันนี้ เมื่อครบรอบวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรมของท่าน กองทัพเรือยังคงจัดงานรำลึกถึงท่านอยู่เสมอ โดยเฉพาะลูกประดู่แห่งหน่วย นปข.

         วันนี้เมื่อ 38 ปีก่อน คือวันที่ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก สงัด ชลออยู่ ถึงแก่อนิจจกรรม ด้วยอาการหัวใจวาย ขณะมีอายุได้ 64 ปี 9 เดือน

         สำหรับคนรุ่นใหม่ อาจไม่รู้จัก หรือแค่คุ้นกับชื่อนี้

         สำหรับคอการเมือง ก็จะจดว่าท่านคือนายทหารที่ ทำรัฐประหาร ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ช่วงวันที่ 20 ต.ค.2520

         หากในความทรงจำของทหารเรือไทย ท่านคือ ชายชาตินักรบที่สุดจะลืมเลือน และสำนึกในวีรกรรม

         พลอากาศเอก สงัด ชลออยู่ เกิดที่บ้านเขาพระ หมู่ที่ 2 ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี

          เป็นบุตรนายแปลก และนางส้มลิ้ม ชลออยู่ สมรสกับคุณหญิงสุคนธ์ ชลออยู่ (สหัสสานนท์)

          ตามประวัติ ครั้งหนึ่งในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 พล.ร.อ.สงัดในขณะนั้นยังมียศ นาวาโท (น.ท.) เป็นผู้บังคับบัญชาเรือรบหลวงสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ยิงปืนจากเรือไปยังรถถังของฝ่ายรัฐบาลจนเสียหาย หลังเหตุการณ์ได้ถูกควบคุมตัวและถูกคุมขังเช่นเดียวกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ที่สนามกีฬาแห่งชาติด้วย

           อย่างไรก็ดี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นนายทหารที่มีบทบาทอย่างสูงในทางการเมือง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ด้วยการเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นผู้นำในการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง

           คือในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 จนได้รับฉายาว่า "บิ๊กจอวส์" หรือ "จอวส์ใหญ่"

           แต่ในบทบาทของนายทหารเรือ พบว่าจนถึงทุกวันนี้ เมื่อครบรอบวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรมของท่าน กองทัพเรือยังคงจัดงานรำลึกถึงท่านอยู่เสมอ โดยเฉพาะเหล่าทหารเรือ ลูกประดู่แห่งหน่วย นปข. หรือหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง กับวีกรรมดอนแตงอันลือลั่น ที่จะเล่าต่อไปนี้     

       วีรกรรมดอนแตง คือ ปฏิบัติการอย่างห้าวหาญของลูกนาวีไทยเมื่อครั้งอดีต เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2518

       ที่สถานีเรือตรวจการณ์ตามลำแม่น้ำโขง อำเภอศรีเชียงใหม่ เรือเอกเทิดศักดิ์ ซึ่งทำหน้าที่ผู้บังคับหมู่เรือ นปข. จังหวัดนองคาย ได้รับแจ้งจากสายข่าวว่า จะมีการลักลอบขนอาวุธและยุทธปัจจัยข้ามมาจากฝั่งลาวบริเวณ อำเภอถ้ำบ่อ จังหวัดหนองคาย ในเขตบ้านกองนาง เพื่อนำไปสนับสนุนกองกำลังของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งในขณะนั้นพื้นที่หลายแห่งในเขตภาคอีสานยังเป็น "พื้นที่สีแดง' ที่ถูกคุกคามจากกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

        ฝ่ายไทยจึงต้องสกัดกั้นขัดขวาง โดยเรือตรวจการณ์ลำน้ำหมายเลข 123  ซึ่งมีเรือตรี โชติ  แทนศิริ  ทำหน้าที่ควบคุมเรือ, พันจ่าตรีปรัศน์  พงษ์สุวรรณ ทำหน้าที่พันจ่าประจำเรือและเป็นผู้ถือท้าย, จ่าตรีบัญญัติ มากุล เป็นจ่าปืน และมีจ่าพรรคกลินอีก 1 นาย ทำหน้าที่เป็นช่างกลประจำเรือ

        เรือลำนี้กว้าง 11 ฟุต  ยาว 31 ฟุต กินน้ำลึก 2 ฟุต  ระวางขับน้ำเต็มที่ 7.5 ตัน ได้แล่นสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามอยู่ในเขตไทยโดยหันกราบขวาเข้าหาฝั่งลาว

        จนกระทั่งในเวลา 1253  ขณะที่เรือตรวจการณ์ ฯ 123  แล่นไปถึง "ดอนแตง' กำลังของฝั่งตรงข้ามซึ่งปักหลักอยู่บนฝั่งลาวได้ระดมยิงข้ามแม่น้ำเข้าใส่ไม่ยั้ง

        เรือฝ่ายไทยจึงเร่งความเร็วแล่นหลบวิถีกระสุน มุ่งลงสู่ทิศใต้ พร้อมกับวิทยุขอความช่วยเหลือ แจ้งสถานการณ์ฉุกเฉินไปยังสถานีเรือ อำเภอศรีเชียงใหม่

        ในเวลาไม่นาน เรือเอกเทิดศักดิ์ ผู้บังคับหมู่เรือจึงสั่งให้เรือ ล-128  เดินทางไปยังจุดปะทะอย่างเร่งด่วน

        ในขณะที่เรือ ล-123 ก็มิได้ครั่นคร้าม ระหว่างที่รอฝ่ายเดียวกันเข้ามาสมทบ ก็ได้กลับไปเผชิญหน้าข้าศึกทันใด จนเวลาบ่ายโมงเศษ เรือ ล-128 ก็มาถึงจึงได้รวมพลังกันเพื่อต่อสู่ข้าศึก

       แต่ในเสี้ยวนาทีเดียวกัน เรือ ล-123 ถูกข้าศึกระดมยิงอย่างหนัก กระสุนนัดหนึ่งพุ่งแสกหน้าของพันจ่าตรีปรัศน์ซึ่งเป็นผู้ถือพังงาเรือ เรือจึงเสียการควบคุมและพุ่งหัวเข้าเกยตื้นอยู่ทางด้านใต้ของดอนแตงในลักษณะเกยหัวขึ้น

สิ้น \"นักรบแห่งราชนาวี\" วีรกรรมดอนแตง กู้เรือ ชิงศพ!

ภาพจากhttp://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5333405&Ntype=12

 

      ผู้ควบคุมเรือ ล-128 จึงพยายามวิทยุรายงานไปยังสถานีเรือ และยังพยายามที่จะเข้าช่วยเหลือเรือ ล-123

      แต่ปรากฏว่าทางข้าศึกก็ไม่ละลด โดยส่งรถถังของฝ่ายลาวจำนวน 4 คัน แล่นเข้ามาประชิดชายฝั่งหันป้อมปืนออกสู่แม่น้ำเล็งมายังฝั่งไทย แถมด้วยเรือตรวจการณ์ตามลำน้ำอีก 3 ลำ ที่แล่นในรูปขบวนเรียงตามกันมุ่งหน้าเข้าสู่บริเวณที่เป็นจุดปะทะ โดยมีระยะห่างระหว่างลำ 500 เมตร

       กระทั่ง ทั้งรถถังและเรือทั้งหมด ได้ระดมยิงเข้าใส่เรือตรวจการณ์ตามลำน้ำของฝ่ายไทยทั้งสองลำอย่างรัวถี่ยิบ แต่ฝ่ายไทยก็ไม่ยอมเสียเปรียบง่ายๆ จึงยิงระดมต่อสู้กับข้าศึกอย่างสุดความสามารถเช่นกัน

      จนถึงเวลาบ่ายโมงยี่สิบนาที ทหารนาวิกโยธินจากหน่วยเฉพาะกิจได้เคลื่อนกำลังเข้าประจำแนวบนฝั่งไทยและระดมยิงคุ้มกันให้แก่เรือทั้งสองลำ โดยมีเรือเอกประสาน จันทร์รัศมี นายทหารของหมู่เรือ นปข. ทำหน้าที่นายทหารติดต่อระหว่างกำลังบนฝั่งกับเรือ ล-123 และ ล-128

       ต่อมา เรือ ล-125 ออกเดินทางจากสถานีเรืออำเภอศรีเชียงใหม่ เข้าสมทบในจุดปะทะ โดยผู้ควบคุมเรือยอมเสี่ยงอันตรายแล่นฝ่ากระสุนเข้ามาทางร่องน้ำด้านในระหว่างดอนแตงกับฝั่งไทย

      แต่ฝ่ายเรือ ล-123 ซึ่งเกยตื้นอยู่ ก็ยังคงคงถูกข้าศึกระดมยิงอย่างหนัก จนเรือ ล-128 และเรือ ล-125 ต้องตัดสินใจถอนตัวออกมาจากยุทธบริเวณ

      ที่สุด ทหารนาวิกโยธินซึ่งวางกำลังสนับสนุนอยู่บนฝั่งไทย ได้ตัดสินใจเคลื่อนกำลังข้ามไปยังดอนแตง เพื่อให้ความช่วยเหลือเรือ ล-123

      ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ จนสามารถช่วยเหลือกำลังพลประจำเรือ ล-123 ออกจากพื้นที่ปะทะได้ทั้งหมด คงเหลือเพียงศพของพันจ่าตรีปรัศน์  พงศ์สุวรรณ ซึ่งเสียชีวิตคาอยู่กับตำแหน่งถือท้ายพังงาเรือ

      ต่อมาช่วงสี่โมงสิบห้านาที ทหารนาวิกโยธินได้ตรึงกำลังอยู่บนฝั่งไทยใกล้กับดอนแตง ส่งผู้บาดเจ็บจากเรือ ล-123 และเรือ ล-128 ยังโรงพยาบาลนครพนม

      โดยจากการปะทะในระลอกแรก นอกเหนือจากพันจ่าตรีปรัศน์ พงศ์สุวรรณ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต ฝ่ายเราได้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ได้แก่ จ่าเอกบัญญัติ มากุล จ่าปืนเรือ ล-123 ถูกกระสุนและสะเก็ดระเบิดที่แขนและที่ขา ขณะทำการยิงตอบโต้กับฝ่ายลาวได้รับบาดเจ็บสาหัส จ่าเอกวิรัช อุดรวงศ์  จ่าปืนเรือ ล-128  ถูกยิงที่ขาทะลุได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน โดยจ่าเอกคงฤทธิ์  ศรีสม จ่าช่างกลเรือ ล-128 โดนกระสุนของฝ่ายลาวเฉี่ยวแก้มซ้ายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

      จนราวห้าโมงสิบนาที ทหารลาวได้ระดมปืนซัลโวเข้าใส่เรือ ล-123 ซึ่งเกยตื้นอยู่บนดอนแตงอีกครั้งหนึ่ง หมายที่จะทำลายเรือให้พินาศ

      แต่ทางไทยตอบโต้โดยจัดเครื่องบิน ที-28 ทำการโจมตีกดดันข้าศึก จนทหารลาวหยุดยิงแล้ว หลบออกไป แต่ทีจริงแล้วทั้งสองฝ่ายยังคงปักหลักคุมเชิงเฝ้าระวังอยู่

      จนกระทั่งอีก ในเช้ามืดของวันที่  18 พฤศจิกายน ฝ่ายไทยตรวจพบความเคลื่อนไหวของข้าศึกในความมืด ลักษณะเหมือนพยายามที่จะเข้าใกล้ดอนแตงเพื่อยึดเรือหรือทำลายเรือ 123 ที่ติดอยู้

      ผบ.ยุทธบริเวณจึงสั่งให้ใช้ปืน ค. ยิงกระสุนส่องสว่างและกระสุนระเบิดเพื่อเป็นฉากคุ้มกันไม่ให้ข้าศึกเข้าใกล้เรือ ล-123 ที่เกยตื้นอยู่บนดอนแตงได้อย่างที่ต้องการ

      เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นพร้อม ๆ กับการปรากฏตัวของเครื่องบินกองทัพอากาศ ฝ่ายเราจึงส่งทหารนาวิกโยธินขึ้นไปบนดอนแตงเมื่อเวลาหกโมงครึ่ง

     แต่ขณะที่ทหารนาวิกโยธินคืบคลานเข้าไปใกล้เรือ ทหารลาวได้เปิดฉากระดมยิงสกัดกั้นอย่างหนักหน่วงรุนแรง ฝ่ายเราได้ตอบโต้ด้วยปืนไร้แรงสะท้อน ปืน ค. และปืนใหญ่รถถัง

      การปะทะดำเนินไปอย่างดุเดือด ก่อนที่ฝ่ายเราจะถูกยิงกดดันอย่างหนักจนต้องถอนตัวกลับออกมา โดยมีนาวิกโยธินได้รับบาดเจ็บหนึ่งนาย

      ครั้นถึงเวลาเก้าโมงสี่สิบห้านาที เครื่องบินของกองทัพอากาศได้เข้าโจมตีเรือรบลาวทั้งสองลำที่แล่นเข้ามาใกล้ดอนแตง

      สถานการณ์ส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อและบานปลายมากยิ่งขึ้น แต่ขวัญกำลังของฝ่ายเรายังคงเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพลเรือเอก "สงัด  ชะลออยู่' ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรักษาราชการผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเดินทางไปยังแนวหน้า เพื่อติดตามสถานการณ์และอำนวยการปฏิบัติด้วยตนเอง

สิ้น \"นักรบแห่งราชนาวี\" วีรกรรมดอนแตง กู้เรือ ชิงศพ!       

ภาพจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/Zongpetch/2015/11/19/entry-1

        เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่  ได้ลั่นวาจาที่ตราตรึงอยู่ในหัวใจของลูกนาวีไทยมาจนทุกวันนี้ว่า

        "หากไม่ได้ศพคืน ต้องเพิ่มศพเข้าไป'

        ในเวลาสิบโมงสิบห้านาที ของวันที่ 18 พฤศจิกายน นาวิกโยธินของไทยได้พยายามที่จะกู้เรือและนำศพผู้เสียชีวิตกลับมาอีกครั้ง โดยนาวิกโยธินได้ขึ้นสู่หาดดอนแตง โดยมีทหาร 3 นาย ได้รับมอบหมายให้คืบคลานไปยังเรือ เพื่อนำศพพันจ่าตรีปรัศน์  พงศ์สุวรรณ ออกมาจากพังงาถือท้าย

        แต่ขณะที่นาวิกโยธินอยู่ห่างจากเรือ ล-123 ประมาณ 30 เมตร ทหารลาวได้กระทำการระดมยิงอย่างหนักหน่วงอีกครั้งหนึ่ง

       ฝ่ายเราจึงตอบโต้ด้วยอาวุธหนักและเครื่องบินที่เข้าโจมตีกดดันคุ้มกันให้แก่ปฏิบัติการของนาวิกโยธินที่อยู่บนดอน

 

สิ้น \"นักรบแห่งราชนาวี\" วีรกรรมดอนแตง กู้เรือ ชิงศพ!

ภาพจากhttp://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5333405&Ntype=12

 

       ในเวลาสิบโมงครึ่ง เรือตรวจการณ์ของฝ่ายลาวถอนตัวออกจากพื้นที่ปะทะหลังจากถูกระดมยิงด้วยปืนกลอากาศจากเครื่องบินฝ่ายไทย ส่วนทหารนาวิกโยธินมีผู้ได้รับบาดเจ็บหนึ่งนายคือ จ่าเอกพงษ์ศักดิ์ เกียรติชัย ถูกกระสุนที่ลำคอ

       เมื่อถึงตอนนั้น ฝ่ายเราประเมินสถานการณ์แล้วว่า ปฏิบัติการในเวลากลางวันคงไม่ได้ผล

      การนำศพผู้เสียชีวิตออกจากเรือจึงถูกกำหนดให้เป็นการปฏิบัติภารกิจในเวลากลางคืน เพื่ออาศัยความมืดเป็นฉากกำบัง

       ในการนี้ฝ่ายวางแผนได้กำหนดให้ใช้นักทำลายใต้น้ำจู่โจมหรือ "มนุษย์กบ' จากเกาะพระแทรกซึมเข้าไปยังพื้นที่เป้าหมาย

       ขณะที่ฝ่ายเรากำลังเตรียมการและรอคอยเวลาให้พระอาทิตย์ตกดิน ฝ่ายลาวได้ข่มขวัญกำลังของฝ่ายไทย โดยในเวลาบ่ายสองโมง มีเครื่องบินไอพ่นความเร็วสูงเครื่องหนึ่งบินผ่านดอนแตงในระยะค่อนข้างต่ำ เครื่องบินลำดังกล่าวมีทิศทางมาจากเวียงจันทร์มุ่งลงสู่ทิศใต้

       และเมื่อถึงเวลาสี่โมงสี่สิบนาที ฝ่ายเราตรวจพบความเคลื่อนไหวของทหารลาวที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ

       กล่าวคือมีเรือแอลซีวีพี. ซึ่งเป็นเรือระบายพลขนาดเล็ก 1 ลำ จอดอยู่บริเวณชายฝั่ง โดยมีเรือตรวจการณ์ลำน้ำขนาดใหญ่อีก 2 ลำ จอดอยู่ใกล้ ๆ ลักษณะเหมือนกับเรือแอลซีวีพี. จะถูกใช้ในการแล่นเข้าเกยหาดดอนแตง เพื่อส่งทหารขึ้นปฏิบัติการ ภายใต้การคุ้มกันของเรือขนาดใหญ่  2 ลำ

      นอกจากนี้ยังตรวจพบรถถังของฝ่ายลาวแล่นเข้ามาจอดตลอดแนวชายฝั่งตั้งแต่เขตบ้านโพนสาจนถึงบ้านกองนาง

       อย่างไรก็ตาม ฝ่ายลาวมิได้มีปฏิบัติการใด ๆ อย่างที่แสดงท่าทีออกมา

       ต่อมาเมื่อเวลาห้าโมงเย็น เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศได้บินมารับหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจมหรือมนุษย์กบจำนวน 5 นาย จาก บก. หน่วย นปข. นครพนมไปยังพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อเตรียมพร้อมขั้นสุดท้ายก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติการในเวลากลางคืน

       ครั้นถึงเวลาหกโมงสิบห้านาที เมื่อพระอาทิตย์ลับไปจากขอบฟ้า เครื่องบินตรวจการณ์ของกองทัพบกได้ยกเลิกภารกิจบินออกจากยุทธบริเวณ

       จนกระทั่งถึงเวลาสามทุ่มของวันที่ 19 พฤศจิกายน ปฏิบัติการกู้ศพและสำรวจเรือของฝ่ายเราจึงได้เริ่มต้นขึ้น

 

สิ้น \"นักรบแห่งราชนาวี\" วีรกรรมดอนแตง กู้เรือ ชิงศพ!

ภาพจากhttp://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5333405&Ntype=12

 

       มนุษย์กบทั้ง 5 นาย คุ้มกันด้วยนาวิกโยธิน 1 หมู่ ได้คืบคลานขึ้นสู่ดอนแตงและสามารถเข้าประชิดเรือได้สำเร็จ

      ขณะปฏิบัติภารกิจ ฝ่ายเราตรวจพบทหารลาวจำนวน 2-3 นาย ขึ้นมาอยู่บนอีกฝั่งหนึ่งของดอนแตงเช่นกัน  แต่เนื่องจากความมุ่งหมายของภารกิจในขณะนั้นคือการกู้ศพผู้เสียชีวิต   ฝ่ายเราจึงไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับหน่วยสอดแนมของฝ่ายลาวที่ตรวจพบ

       เรือเอกอนุวัฒน์ บุญธรรม ( ยศในขณะนั้น ) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมมนุษย์กบเปิดเผยในภายหลังว่า

       "ปฏิบัติการในครั้งนั้นเสร็จสิ้นเมื่อเวลาตีหนึ่งเศษ ๆ ฝ่ายเราสามารถนำผู้เสียชีวิตกลับออกมาได้ สภาพศพของพันจ่าปรัศน์ขณะที่เข้าไปพบอยู่ในลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอนหลังพิงพนัก เสียชีวิตอยู่ในห้องเรดาร์

       มือขวากำไมค์วิทยุ มือซ้ายจับพังงาเรือ มีรอยกระสุนยิงที่กลางแสกหน้า ศพยังอยู่ในสภาพสวมหมวกเหล็กและเสื้อชูชีพ

       จากการสังเกตสภาพทั่วไปในความมืด เรือ ล-123  ตัวเรือยังเป็นปกติ แต่มีร่องรอยกระสุนเป็นจำนวนมาก หัวเรือเกยหาดขึ้นมาสูงกว่าด้านท้ายเรือ ซึ่งจมอยู่ในน้ำประมาณครึ่งฟุต คาดว่าการจะดึงให้ถอนตัวออกมาคงจะกระทำได้ยาก

สิ้น \"นักรบแห่งราชนาวี\" วีรกรรมดอนแตง กู้เรือ ชิงศพ!

ภาพจากhttp://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5333405&Ntype=12

 

       แม้จะกู้ศพผู้เสียชีวิตออกมาได้สำเร็จ แต่เรือ ล-123 ยังคงค้างอยู่บนดอนแตงในลักษณะเดิมอีกหลายวัน ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อฝ่ายลาวยอมถอนกำลังกลับออกไปและเปิดโอกาสให้ฝ่ายเราเข้าไปกู้เรือกลับมาได้โดยไม่ทำการระดมยิงขัดขวางอีกต่อไป

       ที่สุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน ทหารนาวิกโยธินได้ขึ้นไปบนดอนแตงในเวลากลางวันและปฏิบัติการกู้เรือกลับมาจากจุดที่เกยตื้นได้สำเร็จ

       จากการตรวจสอบสภาพเรืออย่างละเอียดพบว่า เรือ ล-123 มีร่องรอยถูกกระสุนอาร์พีจี. 6 นัด กระสุนปืนรถถัง ปืนกลหนักและปืนเล็กเป็นจำนวนมาก

////////////////////////////

ขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก

http://data.schq.mi.th/~afed/history_www/eee2.htm

หมายเหตุเพิ่มเติมจาก [email protected]