สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 สิ้นพระชนม์
วันนี้เมื่อ 98 ปีก่อน
****************
วันนี้เมื่อ 98 ปีก่อน เป็นอีกวันอันสำคัญยิ่งของประชาชนชาวไทยพุทธ เพราะเป็นวันที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์ หลังจากมีพระอาการประชวรวัณโรคเรื้อรังมามานานนับสิบปี
ในการนี้จึงขอรำลึกถึงพระองค์ ด้วยการอันเชิญพระประวัติมานำเสนอดังต่อไปนี้
โอรสกษัตริย์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้รัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาแพ
พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2403 ในวันที่พระองค์ประสูตินั้นฝนตกหนักมากราวกับฟ้ารั่ว เหมือนนาคให้น้ำบริเวณนั้น พระบรมราชชนกจึงพระราชทานนามว่า "พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ"
ต่อมาเจ้าจอมมารดาแพถึงแก่กรรมหลังจากให้ประสูติพระราชธิดาพระองค์เล็ก (พระองค์เจ้าบัญจบเบญจมา) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2404 หรือในขณะที่พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพีพระชันษาเพียง 1 ปี เท่านั้น
จกานั้นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉา จึงทรงรับพระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพไปเลี้ยงดู เมื่อทรงเจริญวัยทรงพระดำเนินได้ รับสั่งได้คล่องแคล่ว จึงเสด็จพำนักอยู่กับท้าวทรงกันดาล (ศรี) ซึ่งเป็นยายแท้ๆ
สำหรับ เจ้าจอมมารดาแพ ธรรมสโรช เป็นธิดาพระสำราญหฤทัย (อ้าว ธรรมสโรช) และท้าวทรงกันดาร (สี) ยังมีพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยอีก 4 พระองค์ นอกจาก พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ หรือภายหลังทรงเป็น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ แล้วยังมี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ พระราชโอรส ต่อมาทรงเป็นต้นราชสกุลเกษมสันต์ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระราชบุตรลำดับที่ 4) และพระองค์เจ้าบัญจบเบญจมา พระราชธิดาพระองค์เล็ก
ทางธรรม
พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ เมื่อพระชันษาได้ 8 ปี ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนผนวชเป็นสามเณร นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาภาษาอังกฤษและโหราศาสตร์ อีกด้วย
ถึงปี พ.ศ. 2416 เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และหม่อมเจ้าพระธรรมมุณหิศธาดา (สีขเรศ วุฑฺฒิสฺสโร) ทรงเป็นผู้ประทานศีล 10 หลังจากทรงบรรพชาแล้วได้ประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ประมาณ 2 เดือน จึงทรงลาผนวช
ครั้นครบปีบวช (พระชันษา 20 ปี) ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2422 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ และพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
อยู่ 1 พรรษา จึงย้ายไปประทับที่วัดมกุฏกษัตริยารามเพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติของพระจันทรโคจรคุณผู้เป็นพระอาจารย์ ในระหว่างนั้นได้ทรงทำทัฬหีกรรมที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร โดยมีพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาเดช ฐานจาโร วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอิสริยยศ
เมื่อผนวชได้ 3 พรรษา ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง ทรงแปลได้เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค จากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในธรรมยุติกนิกาย เมื่อปี พ.ศ. 2424
พระองค์ได้ครองวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศฯ เมื่อปี พ.ศ. 2434 และในปี พ.ศ. 2436 ได้รับโปรดเกล้าเพิ่มพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต มีราชทินนามว่า "พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สุนทรพรตวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธ์วรธรรมยุตติ์ ศรีวิสุทธิคณะนายก สาสนดิลกธรรมานุวาทย์ บริสัษยนารถสมณุดมบรมบพิตร"
วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 พระองค์ได้รับสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส สุนทรพรตวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธ์ธรรมวรยุต ศรีวิสุทธิคณนายก สาสนดิลกธรรมานุวาทย์ บริสัษยนารถสมณุดมบรมบพิตร
และเมื่อปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก แต่งตั้งเป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ ทั้งกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต และเลื่อนพระอิสริยยศจากกรมหลวงขึ้นเป็นกรมพระยา
หลังจากนั้น ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริว่า การเรียกพระนามพระราชวงศ์ ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑล แต่เดิมนั้นเรียกตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์ ไม่ได้เรียกตามสมณศักดิ์ของพระประมุขแห่งสังฆมณฑล คือ “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” พระองค์จึงเปลี่ยนคำนำพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
เพื่อให้ปรากฏพระนามในส่วนสมณศักดิ์ด้วย โดยพระองค์ได้เปลี่ยนคำนำพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อเฉลิมพระเกียรติเป็นพระองค์แรก!
ในปีต่อมาคือ ปี พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงเสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีความว่า ควรถวายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์แก่พระองค์ ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชให้เด็ดขาด เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เรียบร้อย หลังจากนั้นอีก 6 เดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมอบการทั้งปวงซึ่งเป็นกิจธุระพระศาสนา ถวายแด่พระองค์ผู้เป็นมหาสังฆปริณายก ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2455
สิ้นพระชนม์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าประชวรด้วยวัณโรค มีพระอาการเรื้อรังมานานนับสิบปี จนกำเริบรุนแรงเกินกว่าความสามารถของแพทย์หลวง ในที่สุดสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2464 สิริรวมพระชันษาได้ 61 ปี ครองวัดบวรนิเวศวิหารนาน 30 ปี ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ 10 ปี 7 เดือน
งานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เริ่มในวันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2465 โดยวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน เป็นวัน พระราชทานเพลิงพระศพ
**************//**************
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย
และ http://www.dharma-gateway.com/