วันนี้ในอดีต

26 ส.ค. 2416  รำลึกเจ้าดารารัศมี  พระราชชายา ล้นเกล้า ร. 5

26 ส.ค. 2416 รำลึกเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ล้นเกล้า ร. 5

26 ส.ค. 2562

ทรงงดงามและเรียบง่าย

 

************************

 

วันนี้เมื่อ 146 ปีก่อน คือวันที่เจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ ประสูติขึ้นมาบนโลกใบนี้

 

พระนางมีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนา เข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา

 

 

26 ส.ค. 2416  รำลึกเจ้าดารารัศมี  พระราชชายา ล้นเกล้า ร. 5

 

 

พระประวัติช่วงต้น

 

เจ้าดารารัศมี ราชชายา มีพระนามลำลองเรียกกันในครอบครัวว่า “เจ้าน้อย” และในพระประยูรญาติว่า “เจ้าอึ่ง” ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา (หากนับทางเหนือ เป็นเดือน 10) หรือตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 เวลา 00.30 น.เศษ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย)

 

พระนางเป็นพระธิดาใน พระเจ้าอินทวิชยานนท์ กับ เจ้าทิพเกสร มีพระเชษฐภคินีร่วมพระอุทรหนึ่งพระองค์คือเจ้าจันทรโสภา

 

เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ จนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้นดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว และโปรดการทรงม้าเป็นอย่างยิ่ง

 

อนึ่ง เมื่อวัยเยาว์นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระบิดา ได้จัดการให้พระองค์ไว้จุกตามแบบธรรมเนียมสยาม ซึ่งไม่เคยปรากฏในล้านนามาก่อน

 

 

เสด็จเข้าวังหลวง

 

ในปี พ.ศ. 2426 เมื่อเจ้าดารารัศมีมีพระชนมายุได้ 11 พรรษาเศษ พระบิดา ได้จัดให้มีพิธีโสกันต์เจ้าดารารัศมีอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพิธีโสกันต์ครั้งแรกในล้านนา

 

 

26 ส.ค. 2416  รำลึกเจ้าดารารัศมี  พระราชชายา ล้นเกล้า ร. 5

 

 

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำภาคพายัพ) ได้อัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของขวัญโกนจุก แก่เจ้าดารารัศมี

 

คล้อยหลัง 3 ปี ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมีได้โดยเสด็จพระบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย และได้ถวายตัว รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ประทับอยู่ ณ กรุงเทพมหานครนับแต่นั้นมา

 

 

เจ้าจอมมารดาดารารัศมี

 

เมื่อพระองค์เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง พระบิดาได้ประทานเงินค่าตอไม้ (ค่าสัมปทานไม้สักในเขตแคว้นล้านนา ซึ่งตอนนั้นถือกันว่าป่าไม้สักทั้งหมดในดินแดนล้านนาเป็นของพระเจ้านครเชียงใหม่ทั้งสิ้น จะยกประทานแก่ผู้ใดก็ได้ ในกรณีนี้ทรงยกผลประโยชน์เป็นค่าสัมปทานประทานพระธิดา) เพื่อสร้างตำหนักขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ในเขตพระราชฐานชั้นในในพระบรมมหาราชวัง 

 

แต่ในระหว่างที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย มิได้สนพระทัยต่อการถูกมองพระองค์ว่าเป็น “เจ้าหญิงเมืองลาว” แต่ประการใด ทรงให้ข้าหลวงในตำหนักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา เหมือนเมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ทุกประการ

 

 

26 ส.ค. 2416  รำลึกเจ้าดารารัศมี  พระราชชายา ล้นเกล้า ร. 5

 

 

ขณะนั้นยังทรงเป็นเพียงเจ้าจอมพระสนม ยังไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้านาย และต่อมาทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 ทรงพระนามว่าพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่ง “เจ้าจอมดารารัศมี” ขึ้นเป็น “เจ้าจอมมารดาดารารัศมี”

 

จนกระทั่งปี 2451 ที่เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ ล้นเกล้าร.5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ขึ้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง ดำรงพระอิสริยยศ “พระราชชายา” และดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้านายในราชวงศ์จักรีนับแต่นั้น

 

 

 

เหตุเศร้า

 

ส่วนพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี หรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าหลวงว่า “เสด็จเจ้าน้อย” เป็นที่โปรดปรานฯ ในพระราชบิดายิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา

 

เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง 3 ปี 4 เดือน 18 วัน ก็สิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 (ต่อมาทรงได้รับโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามพระอัฐิขึ้นเป็น “พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” “พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” และ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” ตามลำดับ)

 

 

26 ส.ค. 2416  รำลึกเจ้าดารารัศมี  พระราชชายา ล้นเกล้า ร. 5

พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี

 

 

ข้อมูลระบุว่า การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาในคราวนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงมีรับสั่งกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เองว่าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ที่ทรงมิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น “เจ้าฟ้า” ตามศักดิ์แห่งพระมารดา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงพระราชธิดาในพระเจ้าประเทศราช เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์

 

 

26 ส.ค. 2416  รำลึกเจ้าดารารัศมี  พระราชชายา ล้นเกล้า ร. 5

 

มีการโจษจันกันว่าพระองค์ถูกพระพี่เลี้ยงวางยาพิษเพื่อหวังเครื่องแต่งพระองค์ แต่ข่าวลือดังกล่าวก็ถูกปฏิเสธ เพราะเจ้าจอมมารดาดารารัศมีก็กล่าวถึงพระอาการประชวรของพระราชธิดาไว้ชัดแจ้ง ใน ข่าวสิ้นพระชนม์ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 9 หน้าที่ 425 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435

 

แต่สำหรับเจ้าจอมมารดาดารารัศมีแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ไม่สามารถรับสั่งเป็นคำพูดได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากทรงได้รับลายพระหัตถ์ จากพระบิดาที่ส่งมาประทานแล้ว ทำให้ทรงมีกำลังพระทัยดีขึ้นโดยลำดับ

 

ต่อมาภายหลัง เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมิได้มีพระประสูติกาลอีกเลย ทั้งที่โดยความจริงแล้วนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยเอาไว้ก็ตาม

 

ไม่ว่าจะอย่างไรเจ้าจอมมารดาดารารัศมีก็ยังทรงมุ่งมั่นรับใช้เบื้องพระยุคลบาทและถวายความจงรักภักดีต่อพระบรมราชสวามีอย่างหาที่สุดไม่ได้

 

 

พระอิสริยยศ “พระราชชายา”

 

จนกระทั่งปี 2451 ที่เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ ล้นเกล้า ร.5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ขึ้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง ดำรงพระอิสริยยศ “พระราชชายา” และดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้านายในราชวงศ์จักรีนับแต่นั้น

 

ทั้งนี้  “เจ้าดารารัศมี พระราชชายา” เป็นพระมเหสีลำดับที่ 5 ในเวลานั้น 

 

พระราชชายาฯ ประทับอยู่ ณ นครเชียงใหม่ได้หกเดือนเศษ ก็เสด็จนิวัติพระนคร ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพระราชทานเลี้ยงฉลองขึ้นตำหนักสวนฝรั่งกังไส(พระราชวังดุสิต) ซึ่งเป็นตำหนักใหม่ที่โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานพระราชชายาฯเป็นพิเศษ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายฝ่ายเหนือที่โดยเสด็จพระราชชายาฯลงมากรุงเทพฯครั้งนี้ร่วมโต๊ะเสวยด้วยทุกองค์

 

 

ปลายทางพระชนม์ชีพ

 

หลังจากเสด็จนิวัติพระนคร พระราชชายาฯ ได้ทรงประทับอยู่ในพระราชวังดุสิตอย่างสำราญพระทัยที่ได้ทรงกลับมารับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบรมราชสวามีได้เพียง 10 เดือน ก็ต้องทรงประสบกับเหตุวิปโยคคราใหญ่ในพระชนม์ชีพอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับรวมเวลาที่ พระราชชายาฯ ได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เป็นเวลา 23 ปีเศษ

 

 

26 ส.ค. 2416  รำลึกเจ้าดารารัศมี  พระราชชายา ล้นเกล้า ร. 5

 

 

นับแต่สิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาฯ ยังทรงประทับในพระราชวังดุสิตมาโดยตลอด จนกระทั่งปีพ.ศ. 2457 จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวร

 

เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็เสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่ โดยเสด็จออกเดินทางเมื่อ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2457 และเสด็จพระดำเนินถึงยังนครเชียงใหม่ในวันที่ 22 เดือนเดียวกัน ได้เข้าประทับยังคุ้มท่าเจดีย์กิ่วริมแม่น้ำปิงตั้งแต่นั้น และย้ายไปประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม จนกระทั่งประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะพิการ (ปอดพิการ)

 

และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เมื่อเวลา 15.14 น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา 60 ปี 3 เดือน 13 วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศกุดั่นน้อยและเครื่องสูง 1 สำรับ และให้ข้าราชบริพารไว้ทุกข์มีกำหนด 7 วัน เป็นเกียรติยศ

 

********************************