ข่าว

ฤดูหนาว 2567 เริ่มเมื่อไหร่? คาด อากาศหนาวเย็น กว่าปี 66 กทม. ต่ำสุดเท่าไหร่

ฤดูหนาว 2567 เริ่มเมื่อไหร่? คาด อากาศหนาวเย็น กว่าปี 66 กทม. ต่ำสุดเท่าไหร่

03 ต.ค. 2567

กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดข้อมูล ฤดูหนาว 2567 เริ่มเมื่อไหร่? คาด มาช้ากว่าปกติ แต่ อากาศหนาวเย็น กว่าปี 2566 เช็กเลย กทม. ต่ำสุดเท่าไหร่

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศช่วง ฤดูหนาว 2567 ของประเทศไทย โดยจะเริ่มประมาณปลายสัปดาห์ที่สามของ ต.ค. 2567 - ก.พ. 2568 ซึ่งถือว่ามาช้ากว่าาเฉลี่ยปกติเล็กน้อย แต่ อากาศหนาวเย็น มากกว่าปีที่ผ่านมา

 

 

ฤดูหนาวของประเทศไทยปีนี้ คาดว่า

 

  • บริเวณประเทศไทยตอนบน จะเริ่มประมาณปลายสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งจะช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568
  • อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบนประมาณ 20 - 21 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 19.9 องศาเซลเซียส) และจะมี อากาศหนาวเย็น มากกว่าปีที่ผ่านมา (อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 21.6 องศาเซลเซียส) สำหรับอุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 6 - 8 องศาเซลเซียส ส่วนมากจะอยู่ตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอุณหภูมิต่ำที่สุดบริเวณกรุงเทพมหานคร 16 - 18 องศาเซลเซียส และปริมณฑล 14 - 16 องศาเซลเซียส
  • ช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ประมาณต้นเดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568
  • สำหรับยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมี อากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง
  • ส่วนภาคใต้ จะมี อากาศเย็น บางแห่งในบางช่วงส่วนมากตอนบนของภาค แต่ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป
  • โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม กับมี ฝนตกหนัก หลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากรวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่ สำหรับคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ในบางช่วงมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร
  • เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำ และมีโอกาสสูงที่จะพัฒนาตัวเป็นพายุหมุนเขตร้อนแล้วเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ซึ่งจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่น รวมทั้งคลื่นลมจะมีกำลังแรง และอาจมีคลื่นพายุซัดฝั่ง ความสูงของคลื่นประมาณ 4 - 5 เมตร

 

 

ฤดูหนาว 2567

 

ลักษณะอากาศทั่วไป

 

ประเทศไทยตอนบน (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก)

 

ประมาณปลายสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม - เดือนพฤศจิกายน ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปกับมี อากาศหนาว บางแห่งในบางวันทางตอนบนของภาค ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจะมีอากาศเย็นบางแห่ง ทางตอนบนของภาค โดยจะมีฝนเล็กน้อยร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ และอาจลมกระโชกแรงบางแห่งในบางวัน เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะๆ โดยจะมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดปกคลุมประเทศไทย

 

จากนั้นจนถึงเดือนมกราคม จะมีอากาศหนาวเย็นมากขึ้น โดยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไปและมีอากาศหนาวจัดบริเวณตอนบนของภาค สำหรับบริเวณยอดดอย ยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้ในบางช่วง ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจะมีอากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไป ส่วนมากทางตอนบนของภาค ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทย โดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ และต่อเนื่อง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมประเทศไทย และมีกำลังแรงเป็นระยะๆ 

 

ส่วนในระยะต้นและกลางเดือนกุมภาพันธ์ ลักษณะ อากาศจะแปรปรวน โดยอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้น และเริ่มมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ ส่วนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง

 

 

ภาคใต้

 

ตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนมกราคม มีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบทั่วไป โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ซึ่งจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่งก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง

 

สำหรับคลื่นลมทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ในบางช่วงจะมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร เนื่องจากมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ และมีกำลังแรงเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ประกอบกับในบางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ นอกจากนี้ ในบางช่วงมักจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงหรือพายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านภาคใต้ 

 

จากนั้นจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ฝนจะลดลง เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง และเริ่มเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมแทน

 

 

ข้อควรระวัง

 

1. เดือนตุลาคม บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับจะมีน้ำเหนือไหลบ่าลงมา และในบางช่วงจะมีน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่

 

2. เดือนธันวาคมและมกราคม บริเวณยอดดอยและยอดภูมักจะเกิดน้ำค้างแข็งขึ้นได้ กับจะมีหมอกหนาเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ยวดยานพาหนะไว้ด้วย

 

3. เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ อาจมีคลื่นกระแสลมตะวันตก เคลื่อนตัวจากประเทศเมียนมาผ่านประเทศไทยตอนบนซึ่งจะทำให้ช่วงดังกล่าวเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่

 

4. เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม มักมีหย่อมความกดอากาศต่ำ และมีโอกาสสูงที่จะพัฒนาตัวเป็นพายุหมุนเขตร้อนแล้วเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ซึ่งจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่น รวมทั้งคลื่นลมจะมีกำลังแรง และอาจมีคลื่นพายุซัดฝั่ง ความสูงของคลื่นประมาณ 4 - 5 เมตร