อัปเดตเส้นทาง ร่องมรสุม พาดผ่านไทย เฝ้าระวังพิเศษ ช่วง อากาศเปลี่ยนแปลง
อัปเดตเส้นทาง ร่องมรสุม พาดผ่านไทย พยากรณ์ล่วงหน้า 10 วัน เฝ้าระวังพิเศษ ช่วง อากาศเปลี่ยนแปลง ขณะพบ พายุดีเปรสชัน ใกล้ฟิลิปปินส์
อัพเดทเส้นทาง ร่องมรสุม พาดผ่านประเทศไทย ผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 21-30 ต.ค. 2567 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ) เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย : ยังเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดู ปลายฝนต้นหนาว ต้องระวังรักษาสุขภาพ ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
ช่วงวันที่ 21 - 22 ต.ค. 2567
เป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจาก ร่องมรสุม พาดผ่านภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่าง ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคอีสานล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมี ฝนตกหนัก บางแห่งบริเวณภาคกลางด้านตะวันตก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบนและฝั่งอันดามัน ขอให้ระวังอันตรายจาก ฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิด น้ำท่วมฉับพลัน และ น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุม สปป.ลาว แล้ว ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนในระยะแรกๆ ฝนจะลดลงตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2567 และอากาศจะเย็นลง ยอดดอย ยอดภู จะเริ่มมีอากาศเย็นถึงหนาวให้ได้สัมผัส แต่อาจจะยังมีฝนบางแห่งบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก
ช่วง 23 - 29 ต.ค. 2567
ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง อากาศจะเริ่มเย็นลง ลมทิศเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ พัดปกคลุม ส่วนบริเวณภาคใต้ยังมีลมตะวันตกพัดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ทำให้ยังมีฝนตกต่อเนื่อง เป็น ฝนฟ้าคะนอง ปานกลางถึงหนักบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด
อนึ่ง พายุดีเปรสชัน บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็น พายุโซนร้อน และเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะลูซอล ประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงวันที่ 24 -25 ต.ค. 2567 คาดว่าจะเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือและตะวันตกเฉียงไปทางเกาะไต้หวัน ทิศทางยังไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยจึงไม่มีผลกระทบในขณะนี้ เนื่องจากยังมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมา ทำให้ทิศทางของพายุเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด (ข้อมูลนี้ใช้เป็นแนวทางในการติดตามสภาพอากาศ ยังต้องติดตามและอัพเดทสถานการณ์ด้วยข้อมูลจากผลการตรวจอากาศอื่นๆ ร่วมด้วย อาจมีการเปลี่ยนแปลง ตามข้อมูลที่มีการประมวลผลใหม่)