"ฤดูหนาว 2567" เริ่มสิ้นเดือน อุตุฯ ประกาศ คาด ไทยเข้าสู่ ฤดูหนาว 29 ต.ค. 2567
"ฤดูหนาว 2567" เริ่มวันไหน กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแล้ว คาดเริ่มสิ้นเดือน 29 ต.ค. 2567 จนถึง ก.พ. 2568 กทม. จะต่ำสุดเท่าไหร่
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ ประเทศไทยเตรียมเข้าสู่ ฤดูหนาว 2567 อย่างเป็นทางการในวันที่ 29 ต.ค. 2567 ช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 2 สัปดาห์ และสิ้นสุดประมาณปลายเดือน ก.พ. 2568 อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20 - 21 องศาเซลเซียส จะมี อากาศหนาวเย็น กว่าปีที่ผ่านมา (ปี 2566 อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21.6 องศาเซลเซียส) ขณะที่ กรุงเทพมหานคร อุณหภูมิต่ำสุดที่ประมาณ 16-18 องศาเซลเซียส โดยบริเวณที่มีโอกาสเกิด อากาศหนาวถึงหนาวจัด จะอยู่ช่วง เดือน ธ.ค. 2567 - ม.ค. 2568 บริเวณยอดดอย ยอดภู และเทือกเขา จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด
ดร.สุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ตามเกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย
- อุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบน อยู่ในเกณฑ์อากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไป คือมีอุณหภูมิต่ำสุดน้อยกว่า 23 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่อง
- ลมระดับล่างที่ความสูงประมาณ 100-3,500 เมตร เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก ส่วนลมระดับบนที่ความสูงประมาณ 5,000 เมตรขึ้นไป เป็นลมฝ่ายตะวันตก
- ปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฤดูหนาวของประเทศไทยในปีนี้จะเริ่มขึ้นตามเกณฑ์ฯ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 และจะสิ้นสุดฤดูในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจากสถิติถือว่าเริ่มต้นช้ากว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์
ดร. สุกันยาณี กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้โดยรวมแล้วอากาศจะหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบนประมาณ 20-21 องศาเซลเซียส (ปีที่ผ่านมา 21.6 องศาเซลเซียส) กรุงเทพมหานคร อุณหภูมิต่ำที่สุดจะอยู่ในช่วง 16-18 องศาเซลเซียส และปริมณฑลประมาณ 14-16 องศาเซลเซียส
สำหรับช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด จะอยู่ในช่วงประมาณเดือนธันวาคม 2567 ถึงปลายเดือนมกราคม 2568 อุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 6 - 8 องศาเซลเซียส ส่วนมากบริเวณตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง
ส่วนภาคใต้ จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางช่วงส่วนมากตอนบนของภาค แต่ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป คลื่นลมในทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ และในบางช่วงมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม อาจจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง หรือ พายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ซึ่งจะทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง รวมทั้งคลื่นลมจะมีกำลังแรง และอาจมีคลื่นพายุซัดฝั่ง ความสูงของคลื่นประมาณ 3 - 5 เมตร จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจาก กรมอุตุนิยมวิทยา อย่างใกล้ชิดไว้ด้วย