กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงปม "พายุน้อย" ถล่ม ลั่นทำเข้าใจคลาดเคลื่อน
กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงปม "พายุน้อย" แผลงฤทธิ์ถล่มไทยระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 5 ธ.ค. ลั่นทำเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามหลักวิชาการ
4 ธ.ค. 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงเรื่องราวระบุว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดิทัศน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทางช่องต่างๆ และมีข้อความปรากฏบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่า "แรงเกินคาดการณ์พายุน้อย แผลงฤทธิ์ถล่มไทย พยากรณ์อากาศ 30 พ.ย. - 5 ธ.ค." นั้น
กรมอุตุนิยมวิทยาขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าว มีบางส่วนที่นำมาจากข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยผู้บรรยายมีเจตนาที่จะพยายามถ่ายทอดเป็นภาษาพูด ที่คาดว่าจะสื่อสารให้เข้าใจง่ายมากขึ้น แต่การใช้ภาษาดังกล่าวอาจเป็นการสื่อสารที่ทำให้ผู้รับข้อมูลข่าวสาร ยิ่งมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากคำว่า "พายุน้อย" ไม่มีใช้ในนิยามศัพท์ทางอุตุนิยมวิทยา คำว่า "พายุ" จะสื่อถึงเหตุการณ์ของภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรง มีลมกระโชก ฝนตกหนัก หรือฟ้าคะนอง อันอาจจะก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยส่วนใหญ่ทางอุตุนิยมวิทยาจะใช้คำว่า "พายุ" เช่น พายุฝนฟ้าคะนอง พายุฤดูร้อน พายุทอร์นาโด ส่วนพายุหมุนเขตร้อน จะมีเกณฑ์แบ่งระดับความรุนแรงของพายุ ตามความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางของพายุ ดังนี้
- พายุดีเปรสชัน ความเร็วลมไม่เกิน 33 นอต (61 กม./ชม.)
- พายุโซนร้อน ความเร็วลม 34 - 63 นอต (62 - 117 กม./ชม.)
- พายุไต้ฝุ่น ความเร็วลม 64 นอตขึ้นไป (118 กม./ชม.ขึ้นไป)
สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำ หรือหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง กรมอุตุนิยมวิทยาจะไม่ใช้คำว่า "พายุน้อย" เพราะจะมีผลต่อระดับการแจ้งเตือนภัย ดังนั้นการสื่อสารข้อความหรือภาษาที่ใช้ดังกล่าวจึงไม่เหมาะสม ถึงแม้จะดูให้เข้าใจง่าย อาจจะส่งผลกระทบต่อความเข้าใจของประชาชน ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และอาจตื่นกลัว จึงควรหลีกเลี่ยงใช้ข้อความดังกล่าว