เปิด 5 จังหวัดจมฝุ่น "สระบุรี" อากาศเป็นพิษพุ่งสูงสุดสีแดง
เปิด 5 จังหวัดจมฝุ่น PM 2.5 ต่อเนื่องเกิน 2 วัน "สระบุรี" อากาศเป็นพิษพุ่งสูงสุดสีแดง อสม.ลงพื้นที่คัดกรองสุขภาพประชาชนกลุ่มเปราะบางพื้นที่สีแดง
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพฝุ่น PM2.5 เผยว่า ภาพรวมของฝุ่น PM2.5 ยึดจากเกณฑ์ความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 ในช่วง 24 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มจังหวัด ดังนี้
ภาพรวม ฝุ่น PM2.5 ช่วง 24 ชั่วโมง แบ่ง 5 กลุ่มจังหวัด
1.จังหวัดกลุ่มสีฟ้า คุณภาพอากาศดีมาก มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่าง 0-15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่า ไม่มีจังหวัดใดอยู่ในกลุ่มนี้
2.จังหวัดกลุ่มสีเขียว คุณภาพอากาศดี มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่าง 15-25 มคก.ลบ.ม. รวม 11 จังหวัด แม่ฮ่องสอน สงขลา ปัตตานี สกูล ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พัทลุง นราธิวาส นครศรีธรรมราช ยะลา และตรัง
3.จังหวัดกลุ่มสีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่าง 25-37.5 มคก.ลบ.ม. รวม 5 จังหวัด
4.จังหวัดกลุ่มสีส้ม คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่าง 37.5-75 มคก.ลบ.ม. รวม 51 จังหวัด
5. จังหวัดกลุ่มสีแดง คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่าง 75 มคก.ลบ.ม.ขึ้นไป รวม 9 จังหวัด
5 จังหวัดจมฝุ่น PM 2.5
“จะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่เป็นจังหวัดสีส้มจะกระจุกตัวอยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือบางส่วน และภาคตะวันตก สิ่งที่น่าสนใจคือจังหวัดที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 มากกว่า 75.1 มคก.ลบ.ม. ติดต่อกัน 2 วันขึ้นไป ได้แก่ เพชรบุรี สุโขทัย สระบุรี สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ ซึ่งประชาชนจะต้องเริ่มประเมินสุขภาพตัวเอง เช่น มีอาการแสบตา มีอาการทางระบบหายใจ”
คัดกรองสุขภาพเชิงรุกพื้นที่สีแดง
จะมีการคัดกรองสุขภาพเชิงรุกเมื่อเป็นพื้นที่สีแดง คือ มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม.ติดต่อกันเกิน 3 วัน โดยโรงพยาบาลและสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับ อสม.ลงพื้นที่คัดกรองสุขภาพประชาชนกลุ่มเปราะบางพื้นที่สีแดง เมื่อพบผู้มีอาการจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป และให้ความรู้สื่อสารความเสี่ยงกับประชาชน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 - 14 มกราคม 2568 มีการคัดกรองสุขภาพเชิงรุก 517 คน ใน 4 เขตสุขภาพรวม 9 จังหวัด พบผู้มีอาการใน 4 กลุ่มโรคจำนวน 77 คน ได้แก่ อาการทางเดินหายใจ 62.54% อาการทางตา 33.28% อาการทางผิวหนัง 16.14% และอาการทางระบบโรคหัวใจและหลอดเลือด 5.4%
ข้อมูลวันที่วันที่ 22 มกราคม 2568