บทเรียนชีวิตจากโศกนาฏกรรม “ดื่มแล้วขับ” เสี้ยววินาทีที่เปลี่ยนชีวิต และโอกาสครั้งใหม่เพื่อส่งต่อความหวัง
ชีวิตก่อนทุกสิ่งพังทลาย: เส้นทางจากลิเกดาวรุ่งสู่ความสูญเสีย เสียงกลอง ตะโพน และบทเพลงบนเวทีลิเกเคยเป็นชีวิตของ “หง่าว” ศิริเดชา อาจคำพัน สมาชิกสมาคมคนพิการจังหวัดนครสวรรค์ และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเครือข่ายเมาไม่ขับ ทุกอย่างในชีวิตของเขาเคยเต็มไปด้วยความสุขและความรุ่งเรือง
ตั้งแต่เด็ก หง่าวเติบโตมากับครอบครัวที่เป็นนักแสดงลิเก มีเวทีและเครื่องเสียงเป็นของตัวเอง การแสดงที่เขารักมอบรายได้มากพอให้ใช้ชีวิตอย่างมั่นคง
“ผมเล่นลิเกตั้งแต่จำความได้ ครอบครัวเป็นลิเกมาตั้งแต่แรก พ่อแม่ปูเส้นทางให้จนผมรับงานเองได้ รายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อวัน แต่พอได้เงินมา ความสนุกกลับมาคู่กับความเลินเล่อ ผมหมดเงินไปกับการดื่มเหล้ากับเพื่อนฝูงจนลืมคิดถึงครอบครัว แม้แต่แม่ ผมไม่เคยถามเลยว่าแม่กินข้าวหรือยัง”
การดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความสุขชั่วคราวของเขา หง่าวเลือกดื่มอยู่บ้านเพราะเชื่อว่า “มีเรื่องในบ้านยังดีกว่าไปมีเรื่องข้างนอก” แต่ความคิดนั้นกลับนำพาเขาไปสู่อุบัติเหตุครั้งใหญ่ในปี 2542
“วันนั้นผมดื่มตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 4 โมงเย็น เพื่อนก็เรียกมาดื่มกันที่บ้านเหมือนเดิม พอถึงเวลา 5 โมงเย็น ผมต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปอัดรายการวิทยุแสดงลิเก ขี่ออกจากบ้านได้ไม่ถึง 500 เมตร ผมก็ชนกับมอเตอร์ไซค์อีกคัน สองคนนั้นเสียชีวิต ส่วนผม...ขาหักจนเดินไม่ได้อีกเลย”
เสี้ยววินาทีที่เปลี่ยนชีวิตตลอดกาล
อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้หง่าวต้องเผชิญกับบทเรียนอันเจ็บปวดที่สุดในชีวิต จากนักแสดงลิเกผู้มีอนาคตสดใส เขากลายเป็นผู้พิการที่ต้องขึ้นศาลในข้อหา ดื่มแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
“ตอนนั้นหลักฐานมันชัดเจน เพราะหมอเจาะเลือดพบแอลกอฮอล์ ผมยอมรับทุกข้อกล่าวหา แต่สิ่งที่เจ็บปวดยิ่งกว่าการติดคุกหรือการพิการ คือการที่แม่ต้องขายทุกอย่างเพื่อรักษาผม แม่ขายทั้งเวที เครื่องเสียง และบ้านที่อยู่ สุดท้ายพอผมออกจากเรือนจำ แม่ก็ไม่อยู่แล้ว แม่เสียชีวิตในช่วงที่ผมยังอยู่ในคุก”
ความเจ็บปวดจากการสูญเสียแม่เป็นสิ่งที่ยังตามหลอกหลอนหง่าวจนถึงทุกวันนี้
“ตอนที่รู้ว่าแม่เสีย ผมทำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่จะไปงานศพผมก็ไม่ไป เพราะไม่อยากถูกตีตรวนออกไปสร้างความอับอาย ผมทำได้แค่สวดมนต์อยู่ในเรือนจำ รอจนออกมาแล้วถึงได้ทำบุญกรวดน้ำอุทิศให้แม่”
เริ่มต้นใหม่ในฐานะคนพิการที่มีบทเรียนชีวิต
หลังออกจากเรือนจำในปี 2549 หง่าวพบว่าการใช้ชีวิตในฐานะอดีตนักโทษและผู้พิการนั้นยากลำบากยิ่ง เขาสมัครงานกว่าร้อยแห่งแต่ไม่มีใครรับ จึงตัดสินใจเก็บของเก่าขายเพื่อเลี้ยงครอบครัว
“ผมคิดแค่ว่าต้องเป็นเจ้านายตัวเอง เพราะไปทำงานบริษัทเขาก็ไม่รับ เลยเริ่มเก็บของเก่ากับภรรยา รายได้น้อย แต่ก็พอเลี้ยงครอบครัวไปได้ จนได้มารู้จักกับสมาคมคนพิการและมูลนิธิเครือข่ายเมาไม่ขับ ที่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ผมได้งานทำ ได้เงินเลี้ยงลูก และกลับมามีชีวิตที่พอจะตั้งหลักได้อีกครั้ง”
ปัจจุบัน หง่าวใช้ทักษะเดิมจากการเป็นนักแสดงลิเกมาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเยาวชนและผู้คนในชุมชน เพื่อส่งต่อบทเรียนจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง
“ผมบอกทุกคนเสมอว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมมันไม่ควรเกิดกับใครอีก ดื่มแล้วขับมันทำลายทั้งชีวิตของคุณและคนอื่น อย่าทำผิดแบบที่ผมทำ เพราะแค่เสี้ยววินาทีเดียว มันพรากทุกอย่างไปจากคุณได้หมด”
จากความเจ็บปวดสู่การส่งต่อความหวัง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มองเห็นถึงผลกระทบจากการดื่มแล้วขับ จึงได้จัดแคมเปญ “ ดื่มไม่ขับ ปีใหม่กลับบ้านปลอดภัย ปี 2568 ” เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงผลลัพธ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นเพียงเพราะขาดสติในชั่ววูบ
หง่าวกล่าวถึงความสำคัญของแคมเปญนี้ว่า
“ช่วงปีใหม่มีคนรักเราอยู่ที่บ้านรออยู่ แต่ถ้าเราไม่รักตัวเอง ใครจะรักเรา? ถ้าเมาแล้วอย่าขับ เมามากก็นอน รอให้สร่างก่อน หรือจ้างใครสักคนพากลับบ้าน อย่าเสี่ยงเลย เพราะชีวิตของคุณและคนอื่นมีค่าเกินกว่าจะมาพังเพราะความเมาแค่นี้”
เทศกาลปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุข แต่ความสุขนั้นจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อทุกคนกลับบ้านอย่างปลอดภัย เพราะบนถนนที่เราขับผ่านไปทุกวันอาจเต็มไปด้วยความหวังของใครอีกหลายคนที่รอคอยคุณอยู่ที่ปลายทาง สสส. ชวนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปีใหม่ที่ปลอดภัยด้วยการ ดื่มไม่ขับ และ ขับขี่อย่างไม่ประมาท เพื่อส่งต่อความหวังและความสุขให้กับทุกคนในสังคม
สามารถติดตามข้อมูลความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับแคมเปญ ดื่มไม่ขับ ปีใหม่กลับบ้านปลอดภัย ได้ที่ : https://creativehealthcampaign.thaihealth.or.th/microsite/icanchange/Accident/ดื่มไม่ขับ
กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
Tiktok: @thaihealth
Youtube: SocialMarketingTH
Website : Social Marketing การตลาดเพื่อสังคม