ข่าว

จุฬาฯ - ซีพี เดินหน้าขจัดฝุ่นพิษ! หนุนเกษตรกรน่านปลูกพืชทดแทนข้าวโพด ลดการเผา สร้างรายได้ยั่งยืน

จุฬาฯ - ซีพี เดินหน้าขจัดฝุ่นพิษ! หนุนเกษตรกรน่านปลูกพืชทดแทนข้าวโพด ลดการเผา สร้างรายได้ยั่งยืน

18 ก.พ. 2568

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตามแนวคิดของ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ว่า “เมื่อสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ” ความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่มี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธ์ เป็น คณบดี ฯ และเครือซีพีจึงเกิดขึ้นเพื่อพัฒนา 'POR-DEE' หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษให้พอดีกับใบหน้าคนไทย มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้นำไปจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยา โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะถูกนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลจุฬาฯ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตามเจตนารมณ์ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือซีพี

ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ฯ คณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วย ศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ คณบดี สำนักวิชาการทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ  และผู้บริหาร คณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำโดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร และการพัฒนากลยุทธ์  พร้อมด้วย นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์  และ นายภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด ได้จับมือกันลงพื้นที่จังหวัดน่าน มอบหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 'POR-DEE' ให้บุคลากร นิสิต นักศึกษา ของจุฬาฯ จ.น่าน และประชาชนในพื้นที่ หลังพบว่า น่านเป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน

จุฬาฯ - ซีพี เดินหน้าขจัดฝุ่นพิษ! หนุนเกษตรกรน่านปลูกพืชทดแทนข้าวโพด ลดการเผา สร้างรายได้ยั่งยืน

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาดูงานในพื้นที่พัฒนาของทั้งสองหน่วยงาน  เริ่มจาก โครงการสบขุ่นโมเดล ที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน  ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาต้นแบบที่ซีพีดำเนินการมากว่า 5 ปี เพื่อส่งเสริมการปลูกกาแฟทดแทนข้าวโพดที่ต้องใช้วิธีการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ในขณะที่ จุฬาฯ นำซีพีศึกษาดูงานการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อของสำนักวิชาการทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ น่าน ที่ อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งดำเนินการขึ้นมาเพื่อสร้างอาชีพทางเลือกที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรในจังหวัดน่าน พร้อมกันนี้ยังมีการจัดเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อสานพลัง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ เกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นละอองอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้ต่อยอดความร่วมมือไปสู่การพัฒนาและบูรณาการภาคเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

จุฬาฯ - ซีพี เดินหน้าขจัดฝุ่นพิษ! หนุนเกษตรกรน่านปลูกพืชทดแทนข้าวโพด ลดการเผา สร้างรายได้ยั่งยืน

ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ฯ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ฯ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ลงพื้นที่จังหวัดน่าน มอบหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 'POR-DEE' ให้ประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากน่านเป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน  ซึ่งหน้ากากอนามัยทั่วไปไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่หน้ากาก N95 แม้จะป้องกันได้ดีแต่มีราคาสูงและสวมใส่ไม่สบาย ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ฯ จึงพัฒนา 'POR-DEE' หน้ากาก 4 ชั้น ที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 99% กระชับใบหน้า ใส่สบาย และหายใจสะดวก เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยในครั้งนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และซีพี ได้มอบหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้แก่สำนักวิชาการทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์ จ.น่าน เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่บุคลากร นิสิต นักศึกษาของจุฬาฯที่ จ.น่าน รวมถึงพี่น้องประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5

 

จุฬาฯ - ซีพี เดินหน้าขจัดฝุ่นพิษ! หนุนเกษตรกรน่านปลูกพืชทดแทนข้าวโพด ลดการเผา สร้างรายได้ยั่งยืน

นอกจากการมอบหน้ากากป้องกันฝุ่น จุฬาฯ และเครือซีพียังร่วมศึกษาทางออกระยะยาวในการลดปัญหา PM 2.5 โดย ศ.นพ.รังสรรค์ และคณะอาจารย์จากจุฬาฯ ได้ลงพื้นที่เรียนรู้ 'สบขุ่นโมเดล' ซึ่งดำเนินการพัฒนาโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เป็นโครงการสนับสนุนเกษตรกรปลูกกาแฟแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาหมอกควันและโลกร้อน โดยซีพีให้การสนับสนุนตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การให้ความรู้แก่เกษตรกร การเพาะปลูก ไปจนถึงการจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยลดการเผาพื้นที่การเกษตรที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษและยังสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชน

“เราเห็นความตั้งใจของเครือซีพีในการสนับสนุนเกษตรกรและลดปัญหาฝุ่นอย่างเป็นรูปธรรม ในอนาคตจุฬาฯ พร้อมร่วมมือผลักดันให้ชุมชนสบขุ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายเมล็ดกาแฟผ่านเครือข่ายของจุฬาฯ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟมากขึ้น แทนการทำไร่ข้าวโพดที่ก่อให้เกิดมลพิษ” ศ.นพ.รังสรรค์กล่าว 

จุฬาฯ - ซีพี เดินหน้าขจัดฝุ่นพิษ! หนุนเกษตรกรน่านปลูกพืชทดแทนข้าวโพด ลดการเผา สร้างรายได้ยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือซีพี  เปิดเผยว่า  ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นวิกฤตในประเทศไทยไม่ได้เกิดจากการเผาพื้นที่การเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสาเหตุจากการเผาป่า รวมถึงฝุ่นที่เกิดจากการจราจร โรงงานอุตสาหกรรม และความกดอากาศต่ำ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อหาทางแก้ไขอย่างยั่งยืน สำหรับเครือซีพีในฐานะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านการเกษตร ได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มาจากการเผาแปลงเกษตรหรือการบุกรุกป่า โดยนำระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมมาติดตามจุดความร้อนแบบเรียลไทม์ หากพบว่าเกษตรกรมีการเผาหรือบุกรุกป่า จะไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตให้กับเครือซีพีได้ นอกจากนี้เครือซีพียังส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชทางเลือกแทนการเผา โดยเฉพาะกาแฟ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้สูงและช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ 'สบขุ่นโมเดล' เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่เครือซีพีริเริ่มขึ้นในปี 2558 ภายใต้การผลักดันของซีอีโอ-ศุภชัย เจียรวนนท์ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวให้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟที่มีมูลค่าสูงขึ้น โครงการนี้ไม่เพียงช่วยลดการเผาพื้นที่เกษตร แต่ยังเป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

 

จุฬาฯ - ซีพี เดินหน้าขจัดฝุ่นพิษ! หนุนเกษตรกรน่านปลูกพืชทดแทนข้าวโพด ลดการเผา สร้างรายได้ยั่งยืน

ด้าน นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เผยถึงการทำงานเชิงรุกในจังหวัดน่านของซีพี ระบุว่า  ซีพีได้จัดตั้งสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน ขึ้นมาในปี 2562 เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยดำเนินโครงการ สบขุ่นโมเดล เพื่อฟื้นฟูภูเขาหัวโล้น ด้วยการสนับสนุนเกษตรกรปลูกกาแฟแทนการทำไร่ข้าวโพด โดยให้การสนับสนุนครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เนื่องจากกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง โดย 1 ไร่ของกาแฟให้รายได้เทียบเท่ากับข้าวโพด 7 ไร่ ลดการใช้พื้นที่เกษตรและเพิ่มมูลค่าอาชีพ โดยเกษตรกรรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น กาแฟคั่ว กาแฟสำเร็จรูป ปุ๋ยหมัก และชาดอกกาแฟ และยังเปิดร้านกาแฟบ้านสบขุ่น บริหารโดยคนในชุมชน  ทั้งนี้พบว่า สบขุ่นโมเดลช่วยให้พื้นที่ป่ากลับคืนมา 60% หรือกว่า 5,551 ไร่ และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มากกว่า 1.6 ล้านบาท

จุฬาฯ - ซีพี เดินหน้าขจัดฝุ่นพิษ! หนุนเกษตรกรน่านปลูกพืชทดแทนข้าวโพด ลดการเผา สร้างรายได้ยั่งยืน

นอกจากนี้ทั้งสองหน่วยงาน คือ จุฬาฯ และ ซีพี ยังได้เยี่ยมชมฟาร์มโคเนื้อในโครงการพัฒนาเครือข่ายธุรกิจชุมชนร่วมโคเนื้อ ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนของสำนักวิชาการทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ ที่มุ่งพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรให้สามารถผลิตโคเนื้ออย่างมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด และสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรเพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้สำนักวิชาการทรัพยากรการเกษตรฯได้นำเสนอการวิจัยเพื่อสร้างอาชีพทางเลือกให้กับเกษตกร จ.น่าน อีก 2 เรื่อง คือ การพัฒนาและยกระดับธุรกิจเมล็ดโกโก้ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีองค์ความรู้ในการแปรรูปโกโก้จากโกโก้ผลสดเป็นเมล็ดโกโก้แห้งที่มีมาตรฐานตามความต้องการของตลาด  และอีกโครงการคือการผลิตถ่านชีวภาพ (biochar) เพื่อลดคาร์บอน โดยจุฬาฯ และเครือซีพีจะดำเนินการต่อยอดโครงการดังกล่าวในอนาคตร่วมกันต่อไป

 

จุฬาฯ - ซีพี เดินหน้าขจัดฝุ่นพิษ! หนุนเกษตรกรน่านปลูกพืชทดแทนข้าวโพด ลดการเผา สร้างรายได้ยั่งยืน

ทั้งนี้ ศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ คณบดี สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะยกระดับสำนักวิชาการทรัพยากรการเกษตร ฯ ให้เป็น “คณะเกษตรบูรณาการ” เพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการ ต่อยอดสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับภาคการเกษตรกรไทย  การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างจุฬาฯ และเครือซีพีในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรม การขยายผลงานวิจัย และการพัฒนาแนวทางการทำเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรไทย

 

นอกจากการบรรเทาผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนแล้ว ความร่วมมือนี้ยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างเป็นระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเครือซีพีมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือผ่านการวิจัย การพัฒนานวัตกรรมด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรและชุมชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน ต่อยอดการพัฒนาสู่ระดับประเทศ และเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างซีพีและคณะเกษตรบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม