
“พาณิชย์” เผยโปรตีนจากพืช อาหารเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม กำลังบูมในตลาดเนเธอร์แลนด์
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เกาะติดทิศทางอาหารตลาดเนเธอร์แลนด์ พบอาหารแห่งอนาคตมาแรง โดยเฉพาะโปรตีนจากพืช สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าที่แก้ปัญหาขยะอาหาร แนะผู้ส่งออก ร้านอาหารอาหารไทย ศึกษาเทรนด์ นำมาปรับใช้ในการผลิต และทำอาหารขาย คาดมีโอกาสขยายตัวสูง
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวชนรรค์ดา สรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ถึงการติดตามแนวโน้มอาหารปี 2025 แนวโน้มอาหารแห่งอนาคต และโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารไทยเข้าสู่ตลาดเนเธอร์แลนด์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับสินค้าอาหารที่มีส่วนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม โปรตีนจากพืช และนวัตกรรมอาหาร
ทั้งนี้ ผลจากเทรนด์อาหารจากพืชเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เทคโนโลยีสำหรับโปรตีนทางเลือกหรืออาหารทดแทนจากพืชมีความก้าวหน้ามากขึ้น วัตถุดิบมีความหลากหลายและมีความยั่งยืนมากขึ้น และผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกมีรสชาติ เนื้อสัมผัส และประสบการณ์การรับประทานที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคนิยมผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์นมที่ทำจากพืชมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่มีแบรนด์ที่ผลิตสินค้าอย่างพิถีพิถันและมีคุณภาพสูง ซึ่งแน่นอนว่าจะมีราคาที่สูงกว่า แต่นักวิจัยเทรนด์มีข้อสังเกตว่าผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่เจาะตลาดนี้ด้วยผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกแบรนด์ตนเองที่มีราคาถูกกว่าและมีคุณภาพต่ำกว่า ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มักจะไม่สร้างความประทับใจในแง่รสชาติ รูปลักษณ์ และกลิ่นให้แก่ผู้บริโภคมากนัก และมักจะมีสารเติมแต่งจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาตลาดเชิงคุณภาพ และจะทำให้ตลาดอิ่มตัวเร็วกว่าที่คาด
ขณะเดียวกัน การแข่งขันของผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์คุณภาพสูงและเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Lab-Grown Meat) ในตลาดกำลังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงได้รับการอนุมัติแล้วในบางประเทศ แม้ว่าผู้บริโภคจะเปิดใจยอมรับผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจและข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร เนื่องจากมีการใช้พลังงานในการผลิตสูง แต่ในระยะกลาง โปรตีนจากพืช รวมถึงเห็ดและสาหร่าย อาจเป็นทางเลือกที่สำคัญที่มีคุณค่ามากกว่าแค่เพียงอาหารทดแทนเนื้อสัตว์
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับคุณภาพและที่มาของอาหาร ต้องการบริโภคอาหารด้วยประสบการณ์ โดยอาหารนอกบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นมื้อที่มีราคาแพงที่สุดหรือใช้เนื้อสัตว์ที่มีราคาแพงเสมอไป แต่อาหารจากพืช เครื่องเคียง หรือการใช้เครื่องเทศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถสร้างเสน่ห์และความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เช่นเดียวกัน และยังให้ความสำคัญกับรับประทานอาหารและการปรุงอาหาร รวมถึงการแก้ไขปัญหาขยะอาหาร เช่น ใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของวัตถุดิบ ทั้งเศษขนมปัง หนังปลา เปลือกมันฝรั่งในการปรุงอาหาร และนิยมบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ขณะนี้การบริโภคอาหาร เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพ แหล่งที่มาของอาหาร คุณภาพของอาหาร อาหารที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาหารที่มีนวัตกรรม และการไม่ก่อปัญหาขยะอาหาร หากผู้ส่งออก ผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ที่ต้องการบุกเจาะตลาดเนเธอร์แลนด์ จะต้องนำเทรนด์เหล่านี้มาพิจารณา และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้มีโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารไปขาย และเพิ่มโอกาสในการขายอาหารในร้านอาหารของไทยที่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ได้มากขึ้น” นางสาวสุนันทากล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169