ฟักตัวแล้ว.. 'เต่าหญ้า' สัตว์หายาก
เฮ! พบ เต่าหญ้า สัตว์หายาก ฟัก 68 ตัวรังแรกใน 23 ปี
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 ว่า พบหลุมไข่เต่าเริ่มยุบตัว บริเวณศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่าทะเล หน้าวัดท่าไทร ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. วันที่ 20 มีนาคม
เป็นสัญญาณว่าลูกเต่าหญ้าได้ฟักตัวออกจากไข่และเริ่มคลานขึ้นมาบริเวณใกล้ปากหลุม เจ้าหน้าที่ได้รอจนน้ำทะเลขึ้นสูงสุด จึงได้ช่วยลูกเต่าที่ขึ้นมาจากหลุมฟัก พร้อมขุดหลุมเปิดทางให้ลูกเต่าที่ยังเหลืออยู่ในหลุมเดินขึ้นมาจนหมดเพื่อลงสู่ทะเลอย่างปลอดภัย ได้ลูกเต่าหญ้ารวม 68 ตัว และได้ตรวจสอบในหลุมพบว่ามีไข่ที่ไม่มีน้ำเชื้อผสม 11 ฟอง ไข่ที่ได้รับการผสมแต่ไม่ฟัก 2 ฟอง รวมไข่ทั้งหมด 81 ฟอง
นายจตุพร กล่าวว่า ไข่เต่าทะเลจะฟักตัวโดยอาศัยความร้อนจากแสงอาทิตย์ และความชื้นที่เหมาะใต้พื้นทรายโดยประเทศไทยอุณหภูมิของหลุมไข่เต่าใต้ทราย 25-34 องศาเซลเซียส ตัวอ่อนในไข่เต่าทะเลจะเริ่มเจริญแบ่งเซลล์และเริ่มยึดเกาะติดกับเยื่อเปลือกไข่บริเวณส่วนบนของไข่เต่าใน 61-12 ชั่วโมง หลังจากที่แม่เต่าวางไข่ ซึ่งสังเกตได้จากเปลือกไข่บริเวณบนเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น โดยเริ่มเป็นจุดด้านบนและจะเพิ่มวงกว้างไปเรื่อยๆ เมื่อใช้เวลาเพาะฟักนานขึ้น
ในช่วงนี้ถ้ามีการเคลื่อนย้ายหรือพลิกหมุนไข่เต่า จะทำให้ตัวอ่อนหลุดออกจากที่ยึดเกาะและตายในที่สุด ดังนั้น ถ้ามีความจำต้องเคลื่อนย้ายไข่เต่าเพื่อการเพาะฟักช่วงเวลาที่ปลอดภัยที่สุดต้องอยู่ในเวลา 3-6 ชั่วโมง หลังจากที่แม่เต่าวางไข่ ในกรณีที่พบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เกินกว่า 6 ชั่วโมง การเคลื่อนย้ายไข่เต่าทะเลเพื่อการเพาะฟักต้องทำอย่างระมัดระวังโดยเคลื่อนย้ายไข่เต่าในตำแหน่งจุดบนอยู่ตำแหน่งเดิมตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ตัวอ่อนกระทบกระเทือน หรือหลุดจากที่ยึดเกาะและตาย
นายจตุพร กล่าวต่อไปว่า จากการศึกษาการเจริญเติบโตของเต่าหญ้าในบ่อเลี้ยง พบว่าเต่าหญ้ามีน้ำหนักเฉลี่ย 4.5 กิโลกรัม ในเวลา 22 เดือน โดยจะใช้เวลาเจริญเติบโตและสามารถแพร่พันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 8-12 ปี
“สำหรับเต่าหญ้า เป็นเต่าสังกะสี หรือเต่าหญ้าแปซิฟิก เป็นเต่าทะเลชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lepidochelys olivacea เป็นเต่าทะเลขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ 60-70 เซนติเมตร น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ 30-40 กิโลกรัม
กระดองมีสีเขียวมะกอกหรือสีน้ำตาล เกล็ดบนกระดองมีลักษณะซ้อนกันเหมือนสังกะสีมุงหลังคา ส่วนท้องมีสีเหลืองออกขาว หัวค่อนข้างโต ดวงตาปูดโปนออกมา กระดองมีความแข็งมาก ริมฝีปากสั้นทู่และคมแข็งแรงมากเพื่อใช้สำหรับขบกัดกินสัตว์มีกระดองซึ่งเป็นอาหารหลัก ส่วนของกระดองและท้องเชื่อมต่อกัน เป็นเต่าทะเลที่ว่ายน้ำได้เร็วมากโดยอาจว่ายน้ำได้ถึง 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในน่านน้ำไทยจะพบได้ในฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนในทะเลอ่าวไทยจะพบได้น้อยกว่า จัดเป็นเต่าทะเลที่พบได้น้อยมากในน่านน้ำไทย และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535”