สงกรานต์ปลอดเหล้า เคารพสิทธิ
พม.รณรงค์ "สงกรานต์ปลอดภัย ปลอดเหล้า เคารพสิทธิ"
พม. จับมือ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และ สสส. จัดงานรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ปลอดเหล้า เคารพสิทธิ” (Safe Sober Respectful Songkran)
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (อธิบดี สค.) เป็นประธานการแถลงข่าวรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ปลอดเหล้า เคารพสิทธิ” (Safe Sober Respectful Songkran) ร่วมกับ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ผู้แทน สสส. พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายธนวัฒน์ พรหมโชติ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โดยมี เจ้าหน้าที่ สค. สสส. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายองค์กรงดเหล้า สภาเด็กและเยาวชน กทม. เครือข่ายภาคประชาสังคม เข้าร่วมงานดังกล่าว
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศของนิด้าโพล จำนวน 1,250 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 5 – 6 เมษายน 2560 เรื่อง “เทศกาลสงกรานต์ การถูกลวนลาม – คุกคามทางเพศ” พบว่า ร้อยละ 55.20 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ ร้อยละ 43.28 ระบุสาเหตุว่า เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ความคึกคะนอง หรือมึนเมาขาดสติ และร้อยละ 31.28 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมที่นำมาสู่การก่ออาชญากรรมอื่นๆ เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา อนาจาร การทะเลาะวิวาท ดังนั้น การดื่มแอลกอฮอล์ยังคงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และการคุกคามทางเพศ ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ผู้หญิงถูกฉวยโอกาสในเทศกาลนี้
นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการรณรงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สาม
โดยในปีนี้มีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย ปลอดเหล้า เคารพสิทธิ” (Safe Sober Respectful Songkran) เพื่อรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การสร้างการรับรู้ถึงการคุกคามทางเพศว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดจากแอลกอฮอล์ การสร้างความเข้าใจในการเคารพให้เกียรติในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น การไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เพื่อให้สตรีได้รับการคุ้มครองจากการคุกคามทางเพศให้ปลอดภัยทุกพื้นที่ ที่สำคัญ เพื่อสร้างกระแสให้สังคมร่วมกันผลักดัน และเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาการคุกคามทางเพศ กระตุ้นผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ตระหนักถึงผลกระทบการจัดงานที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนให้เห็นโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อีกทั้งในปีนี้ รัฐบาลได้รณรงค์ให้สืบสานประเพณีไทยในเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ชีวาปลอดภัย” โดยส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม โดยการชูเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น อีกทั้ง มีนโยบายให้งดจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด และรณรงค์เมาไม่ขับปลอดแอลกอฮอล์
สค. จึงได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ประเด็นการยุติการคุกคามทางเพศในการจัดงานสงกรานต์ และดูแลช่วยเหลือในกรณีเกิดผู้เสียหายตามกระบวนการที่ถูกต้อง และในวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2562 จะมีการเดินรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนัก ณ บริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี ไปยังหน้าอาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ถนนสีลม
“ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ในวันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุ และวันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว ซึ่งเป็นการสืบสานประเพณีไทย คนไทยจะใช้ช่วงเวลานี้ไปรดน้ำขอพรจากปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และผู้สูงวัยที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ไทยที่มีความสุข ก็ขอให้ทุกคนมีสติในการใช้ชีวิต มีความปลอดภัย ที่สำคัญเล่นสงกรานต์ปราศจากแอลกอฮอล์ และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย