ประชาสัมพันธ์

พลิกวิกฤติ ฟื้นเชื่อมั่น สู่สถาบันการเงิน SMEs ไทย

พลิกวิกฤติ ฟื้นเชื่อมั่น สู่สถาบันการเงิน SMEs ไทย

01 มิ.ย. 2562

เปิดประวัติใหม่ SME D Bank พลิกวิกฤติด้วยศรัทธา ฟื้นความเชื่อมั่นสู่สถาบันการเงินแห่งการพัฒนา SMEs ไทย 

 

               หลายปีก่อนหากเอ่ยถึงชื่อสถาบันการเงินเสี่ยงถูกปิดกิจการ SME D Bank คือหนึ่งในนั้น โดยเป็น 1 ใน 7 ของรัฐวิสาหกิจที่ถูกเรียกเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ด้วยภาวะวิกฤติหนี้เสียท่วมท้น ทำสถิติแบงก์ที่มีเอ็นพีแอล “สูงสุด” ในระบบ คือ 40% 

 

               หากแต่ SME D Bank กลับพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ตัวเอง เป็นรัฐวิสาหกิจ “รายแรก” ที่ปรับตัว แข็งแรง จนออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ ดังนั้นโจทย์ต่อไปเมื่อฟื้นแล้ว แต่จะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างสง่างามสู่ความยั่งยืน คือเป้าหมายใหม่ที่น่าจับตา

 

               สืบเนื่องจากราวกลางปี 2557 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ได้รับคำสั่งจาก คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน ให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พร้อมๆ กับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ อีก 6 แห่ง

 

               การเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ หมายถึง สถานการณ์ ผลการดำเนินงานขององค์กรแห่งนั้นอยู่ในขั้นวิกฤติ ไม่มีประสิทธิภาพ จำต้องรื้อใหญ่แก้ไขโดยด่วน

 

               ภัยคุกคามหนักสุดของ SME D Bank คือ ปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ “เอ็นพีแอล” และอยู่ในสภาพที่มีหนี้เสียทับถมมายาวนาน แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้นเมื่อหนี้เสียได้แตะระดับ 40% ทำสถิติเป็นแบงก์ที่มีเอ็นพีแอล “สูงสุด” ในระบบ ขณะที่แบงก์ทั่วไปมีหนี้เสียไม่เกิน 8%

 

               โดยตัวเลขเอ็นพีแอลของ SME D Bank ก่อนเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557 อยู่ที่ 35,167 ล้านบาท คิดเป็น 39.92% ของสินเชื่อรวม หมายความว่า ในบรรดาสินเชื่อที่แบงก์ปล่อยกู้ไปนั้น เสียหายไป 40% แล้ว หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อ ตัวเลขอาจกลายเป็นหนี้เสียครึ่ง หนี้ดีครึ่ง

 

               ไม่เพียงแค่นั้น SME D Bank ยังมีประเด็นถูกการเมืองเข้าแทรกแซงหาผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีปฏิบัติการเอาจริงกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน SME D Bank ในเวลา 3 ปี ก็สามารถพลิกฟื้นได้สำเร็จ และก้าวสำคัญ คือ 19 มกราคม 2561 ซูเปอร์บอร์ดได้เห็นชอบให้ SME D Bank เป็นรัฐวิสาหกิจรายแรกที่สามารถออกจากแผนฟื้นฟูเป็นองค์กรได้สำเร็จ

 

พลิกวิกฤติ ฟื้นเชื่อมั่น สู่สถาบันการเงิน SMEs ไทย

 

               แถลงการณ์ของซูเปอร์บอร์ดให้เหตุผลที่ SME D Bank สอบผ่านภารกิจฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ ด้วยผลงานที่ปรากฏ 6 ด้าน คือ 

               1.การจำกัดวงเงินสินเชื่อลดเหลือไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย และมีระบบ Check & Balance ของสินเชื่อ ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อใหม่มีคุณภาพดีมากขึ้น

               2.การสร้างกระบวนการติดตามลูกหนี้ (Loan Monitoring) ส่งผลให้หนี้เสียที่ปล่อยใหม่ในปี 2560 อยู่ในระดับต่ำ คือ มีเพียง 0.21% เท่านั้น

               3.บริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลตามแผนฟื้นฟูอย่างเคร่งครัด ทำให้เอ็นพีแอลของสินเชื่อใหม่ตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 ลดลงต่อเนื่อง อยู่ที่ 3.32, 1.32 และ 0.21% ตามลำดับ

               4.ดำเนินการตามพันธกิจสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการด้านสินเชื่อต่างๆ เช่น สินเชื่อ Policy Loan สินเชื่อ SMEs บัญชีเดียว สินเชื่อ SMEs Transformation และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เป็นต้น 

               5.ควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนเงิน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นและมีเสถียรภาพ 

 

               สำหรับเอ็นพีแอลที่เกิดใหม่ระหว่าง 2558-2560 หรือระหว่างอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู ได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ นั่นคือ อยู่ที่ระดับ 3.32, 1.32 และ 0.21% ตามลำดับ โดยเฉพาะปี 2561 เอ็นพีแอลใหม่ของแบงก์อยู่ที่ 0.06% ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้

 

               บทเรียนครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนราคาแพงที่ทำให้ SME D Bank ก้าวข้ามความผิดพลาดสู่สถาบันการเงินที่เข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอี