ธพว.ยกระดับ SMEs ไทย สู่ยุคดิจิทัล
SME D Bank ยกระดับพาเอสเอ็มอีไทยสู่ถนนดิจิทัล เข้าถึงความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง
ในปี 2561 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่องด้วยพันธกิจ “ไม้ค้ำยัน” มุ่งดูแลเอสเอ็มอี กว่า 5.2 ล้านราย ทั้งในและนอกระบบให้เข้าถึงการสนับสนุนของธนาคาร เพิ่มขีดความสามารถ สามารถอยู่รอด เติบโตอย่างยั่งยืน
ธนาคารมุ่งทำงานเชิงรุกและให้ความสำคัญกับการยกระดับพาเอสเอ็มอีสู่ถนนดิจิทัลเข้าถึงความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมงผ่านนโยบาย “3 เติม” ได้แก่
1. เติมทักษะ เพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ 5 ด้านคือ Modern ความทันสมัย , Story การเล่าเป็นเรื่องราว , Certified การสร้างมาตรฐาน , Design การออกแบบ และ Online การตลาดผ่านสื่อออนไลน์
2. เติมทุน ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
และ 3. เติมคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงในอาชีพสู่การเข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ
โดยทำคู่ขนานกับการให้บริการ “3D” สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของประเทศ ด้วยบริการเทคโนโลยีอันทันสมัย (D : Digital) ผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน “SME D Bank” ภายใต้รหัส 24x7 สนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงบริการของธนาคาร 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน
นอกจากนั้นภายในแอปพลิเคชันรวบรวมบริการที่น่าสนใจ เช่น การขอสินเชื่อที่อนุมัติภายใน 7 วัน มุมความรู้คู่ธุรกิจอย่างมืออาชีพ ข่าวสารและกิจกรรมที่น่าสนใจ เป็นต้น
ด้านการพัฒนาธุรกิจด้วยความรู้คู่ทุน (D : Development) ร่วมกับพันธมิตรเช่น สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศติดอาวุธให้เอสเอ็มอีในแต่ละสาขาอาชีพผ่านการจัดอบรมสัมมนาด้านบัญชี เป็นต้น
ด้านการให้บริการรวดเร็วถึงถิ่น (D : Delivery) ผ่านหน่วย “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” เมื่อเอสเอ็มอียื่นขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่น SME D Bank หน่วยรถม้าฯ จะเข้าไปพบผู้ประกอบการถึงถิ่นภายใต้รหัส 8-8-7 คือ ทำงานตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ตลอด 7 วัน
ซึ่งปี 2561 หน่วยรถม้าฯ ปักหมุดให้บริการแล้ว 5,200 ตำบล และปี 2562 ให้บริการครอบคลุม 7,255 ตำบลทั่วประเทศ การปรับตัวดังกล่าวเป็นการพลิกโฉมบริการ จากเดิมที่ลูกค้าต้องเดินทางเข้ามายังสาขา เปลี่ยนเป็นสามารถใช้บริการของธนาคารจากที่ใดและเวลาใดก็ได้ โดยหน่วยรถม้าฯ จะเข้าให้บริการถึงสถานประกอบการของลูกค้า
จากการสำรวจ “ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี” ประจำปี 2561 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ความสามารถในการแข่งขันเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นลูกค้าของ ธพว. ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
โดยไตรมาสที่ 1/61 อยู่ที่ระดับ 53.7 ไตรมาสที่ 2/61 อยู่ที่ระดับ 54.6 ไตรมาสที่ 3/61 อยู่ที่ระดับ 55.4 และไตรมาสที่ 4/61 อยู่ที่ระดับ 58.9 สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. ซึ่งมีดัชนีความสามารถในการแข่งขันไตรมาสที่ 1/61 อยู่ที่ระดับ 43.1 ไตรมาสที่ 2/61 อยู่ที่ระดับ 43 ไตรมาสที่ 3/61 อยู่ที่ระดับ 42.3 และไตรมาสที่ 4/61 อยู่ที่ระดับ 42.1
สะท้อนให้เห็นว่า แนวทางสนับสนุนของ ธพว. ในการเติมความรู้คู่เงินทุนหนุนคุณภาพชีวิตมีส่วนให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มศักยภาพได้จริง