ประชาสัมพันธ์

พม.-อาเซียน ประชุม 'ความรับผิดชอบต่อสังคม'

พม.-อาเซียน ประชุม 'ความรับผิดชอบต่อสังคม'

06 ก.ค. 2562

พม. จับมือ ASEAN จัดประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมความร่วมมือความรับผิดชอบต่อสังคม ด้านสวัสดิการและการพัฒนาของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน


               เวลา 13.30 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ณ ห้องจูปิเตอร์ 11 - 13 อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมความร่วมมือความรับผิดชอบต่อสังคมด้านสวัสดิการและการพัฒนาของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Workshop on the Promotion of CSR in Social Welfare and Development) โดยมี นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวรายงาน

 

 

พม.-อาเซียน ประชุม \'ความรับผิดชอบต่อสังคม\'

 

               นายปรเมธี กล่าวว่า ประชาคมอาเซียนมีเป้าหมายให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน ซึ่งแผนประชาคมอาเซียน ปี 2552 - 2568 ระบุเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) ในประเด็นสิทธิและความเป็นธรรม ประกอบด้วย 4 มาตรการ ที่สำคัญ คือ

 

               (1) พัฒนานโยบายสาธารณะที่เป็นตัวแบบด้าน CSR หรือเครื่องมือทางกฎหมายสำหรับใช้อ้างอิงในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอาจอ้างถึงมาตรฐานและแนวปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ISO 26000 : แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ

 

พม.-อาเซียน ประชุม \'ความรับผิดชอบต่อสังคม\'


               (2) ประสานภาคเอกชนให้ร่วมสนับสนุนในกิจกรรมขององค์กรรายสาขาของอาเซียนและมูลนิธิอาเซียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ

 

               (3) สนับสนุนให้เกิดการรับและนำมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจที่เป็นสากลมาใช้

 

               และ (4) เพิ่มการรับรู้ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในอาเซียนไปจนถึงความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างกิจกรรมเชิงพาณิชย์กับชุมชนในถิ่นที่ตั้งโดยเฉพาะการสนับสนุนการพัฒนาที่มีชุมชนเป็นฐาน

 

               นายปรเมธี กล่าวต่อว่า จากผลสำรวจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่ามีองค์กรธุรกิจมากกว่า 81% ที่มีนโยบายด้าน CSR แสดงให้เห็นว่าทุกวันนี้ภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

 

พม.-อาเซียน ประชุม \'ความรับผิดชอบต่อสังคม\'

 

               นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการประกาศใช้เรื่องมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 จึงส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวขนานใหญ่ของภาคธุรกิจทุกองค์กร ทั้งในองค์กรขนาดกลาง หรือองค์กรขนาดเล็ก ก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัว และเป็นการปรับตัวไปสู่การเดินตามแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

 

               การดำเนินการเกี่ยวกับ CSR ในระดับอาเซียนควรเป็นการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นการทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งองค์กรและสังคมควบคู่กันไป ซึ่งสอดคล้องกับกรอบทิศทางการพัฒนาของโลกที่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาตามกระบวนทัศน์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

 

พม.-อาเซียน ประชุม \'ความรับผิดชอบต่อสังคม\'

 

               ประเทศไทยได้มีการจัดประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ เมื่อปี 2554 ตามแผนจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ปี 2552 - 2558 ในแผนปฏิบัติงานอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ปี 2559 - 2563 (Strategic Framework on Social Welfare and Development ๒๐๑๖ - ๒๐๒๐) กำหนดให้ประเทศไทยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน (Workshop on the Promotion of CSR in Social Welfare and Development)

 

               กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ รับผิดชอบการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมความร่วมมือความรับผิดชอบต่อสังคมด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนในครั้งนี้ขึ้น ระหว่างวันที่ 5 - 7 กรกฎาคม 2562 ณ ห้อง Jupiter 11 - 13 อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

 

พม.-อาเซียน ประชุม \'ความรับผิดชอบต่อสังคม\'

 

               โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของภาครัฐและภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ที่ดำเนินงานด้านการความรับผิดชอบต่อสังคมในงานด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาสังคม รวมทั้งสร้างเครือข่ายในการทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจของภูมิภาคอาเซียนเพื่อเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาอาเซียนต่อไป

 

               กลุ่มเป้าหมายประมาณ 300 คน ประกอบด้วย 1) ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม 2) ผู้แทนเครือข่ายภาคธุรกิจของไทยที่ดำเนินงานด้านCSR และนักวิชาการ (3) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐของไทยที่ดำเนินงานด้าน CSR คณะอนุกรรมการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ

 

พม.-อาเซียน ประชุม \'ความรับผิดชอบต่อสังคม\'

 

               นางนภา กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Global Situation on Corporate Social Responsibility in Social Welfare and Development” โดย Ms. Elaine Tan (Executive Director of ASEAN Foundation) การอภิปราย : เรื่อง “การขับเคลื่อนการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมขอ ภาคธุรกิจให้เป็นกลไกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน” โดย Mr. Lee Yoong Yoong (Director of Community Affairs , ASEAN Secretariat) , Mr. Thomas Thomas (CEO of the ASEAN CSR Network Ltd., Singapore), Mrs Chompan Kulnides (Vice Shairman of CSR Club and VP of Investment and Sustainability Minor International Public Company Limited, Thailand) และดำเนินการอภิปราย โดย Mr. Chris Oestereich (Director of ASEAN Innovation Review, School of Global studies , Thammasat University, Thailand)

 

พม.-อาเซียน ประชุม \'ความรับผิดชอบต่อสังคม\'

 

               การแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อแสวงหาแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจตามแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และการศึกษาดูงานในองค์กรภาคธุรกิจ ที่มีผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นที่ประจักษ์จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีพีซีจี จำกัด และการพิจารณายกร่างข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจตามแผนงานประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิกอาเซียน

 

               กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หวังว่าการประชุมครั้งนี้จะทำให้เกิดการพัฒนากิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในงานด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาสังคมในระดับอาเซียน รวมทั้งมีภาคีเครือข่ายความร่วมมือ และมีข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมต่อที่ประชุมอาเซียน